close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ‘นิเวศน์สุนทรีย์’ ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต ด้วยการสร้างพื้นที่แห่งความสุขรอบตัวเรา

Trawell
Contact search
Live Well 5.3k

‘นิเวศน์สุนทรีย์’ ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต ด้วยการสร้างพื้นที่แห่งความสุขรอบตัวเรา

12 January 2021 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง ภาพ ชนิภา เต็มพร้อม

‘นิเวศน์สุนทรีย์’ อาจจะเป็นคำที่ฟังดูเข้าใจยาก แต่เมื่อเราได้เดินทางมาพบกับ ‘อาจารย์วิจิตร’ หรือ ‘วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร’ ศิลปินผู้สร้างสรรค์แนวคิดในการใช้ชีวิตแบบ ‘นิเวศน์สุนทรีย์’ ในวันนี้ เราก็พบว่าความหมายของมันกลับตรงตัวและนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดายกว่าที่คิด เพราะนิเวศน์สุนทรีย์ นั้นหมายถึง “การสร้างระบบนิเวศน์ดีๆ ให้กับตัวเอง”

และแน่นอนว่าระบบนิเวศน์ดีๆ ของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป สำหรับอาจารย์วิจิตร นิเวศน์สุนทรีย์ของเขาคือ บ้านหลังน้อยที่ปลูกต่อกับโรงวาดรูปสำหรับผลิตงานศิลปะ เปลและแคร่ไม้ไผ่ริมน้ำใต้ร่มไม้ และนาวงกลมผืนเล็กขนาดไม่กี่ตารางวา ริมคลองมหาสวัสดิ์ ใกล้กับสถานีรถไฟวัดสุวรรณ จังหวัดนครปฐม

ในช่วงเวลาที่ ‘บ้าน’ กลายมาเป็นสถานที่ๆ พวกเราต้องใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด เพราะสถานการณ์ของ Covid-19 ที่เกิดขึ้น เราอยากชวนทุกคนมาฟังแนวคิดในการสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีๆ เพื่อให้ ‘บ้าน’ กลายเป็นสถานที่ๆ นอกจากจะอยู่สบายแล้ว แต่ยังสร้างความสุขและสุนทรีย์ให้กับชีวิตได้มากกว่าที่เคย และหากเราเข้าในหลักการนี้มากขึ้น เรายังสามารถจะพัฒนามันไปสู่แนวคิดในการพัฒนาเมืองและชุมชนอีกด้วย

ก้าวแรกที่เราเดินเข้ามาในอาณาเขตบ้านไม้กลางทุ่งนา อาจารย์ก็ทักทายเราอย่างเป็นกันเองและพูดกับพวกเราว่า ช่วยกางร่มสีแดงคันนี้ให้หน่อย พวกเราจะได้นั่งคุยกันได้แบบสบายๆ ไม่โดนแดดเผา

ใจเรา ณ ตอนนั้นรู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่เบา เพราะมองว่าสีแดงนั้นไ่ม่เข้ากันเอาซะเลยกับแคร่ไม้ไผ่และมู้ดของภาพถ่ายที่อยากได้ แต่ก็ตัดสินใจกางร่มตามที่อาจารย์บอก

แต่หลังจากที่ได้ใช้เวลาสบายๆ อยู่ในบ้านหลังนี้เกือบครึ่งวัน เพื่อพูดคุยถึง ‘ความสุนทรีย์’ และ ‘การสร้างพื้นที่ในการใช้ชีวิต’ เราก็กลับออกไปโดยมองร่มสีแดงคันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกเลย

จุดเริ่มต้นของนิเวศน์สุนทรีย์ เกิดขึ้นเมื่อ ‘วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร’ เริ่มสนใจธรรมชาติจากการชักชวนของเพื่อน ทำให้เกิดความคิดอยากขยับพรมแดนการทำงานศิลปะของตนเองไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ

“ถ้าเราวาดรูปป่ารูปภูเขาเฉยๆ เราคงไม่ได้ทำงานอนุรักษ์หรอก เราอยากสื่อสารมากกว่านั้น”

อ.วิจิตรปรับงานศิลปะที่เขาถนัดมาเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมในบริบทต่างๆ ซึ่ง ‘ปล่อยหิน’ คืองานแรกๆที่ วิจิตรเริ่มทดลองการทำงานศิลปะในแบบของเขาอย่างจริงจังๆ เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นศิลปะที่ทันสมัยมากในยุคนั้น

“เป็นงานที่เริ่มจากการเก็บหินจากในเมือง เอาหินใส่กระป๋อง เพื่อให้คนเมืองไปปล่อยในป่า และถ่ายรูปกลับมาให้เรา เราทำเพื่อการแสดงเชิงสัญลักษณ์เหมือนเป็นการปล่อยของกลับสู่ธรรมชาติ”

การเริ่มทำงานศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมทำให้วิจิตรมองเห็นผลผลิตของการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับผู้คน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นต้นกำเนิดของแนวคิด “สาธารณศิลป์” ที่ศิลปินชาวจังหวัดนครราชสีมาคนนี้ต้องการสื่อว่าการทำงานศิลปะนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการมีส่วนร่วมกับผู้คน ซึ่งเขาขัดเกลาความคิดนี้ให้แหลมคมขึ้นด้วยการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนที่ทฤษฎีของเขาจะถูกยกระดับขึ้นเป็นแนวคิด “นิเวศน์สุนทรีย์” ที่เรากำลังจะพูดถึงในวันนี้

นิเวศน์ก็คือระบบ สุนทรีย์ก็คือความสุข

‘ปรากฏการณ์นานิเวศน์สุนทรีย์ คนรักนา มา/หา/นคร’ คือผลงานระดับปริญญาเอกที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดนิเวศน์สุนทรีย์ โดยวิจิตรเริ่มต้นตั้งคำถามจากวิถีชีวิตของชาวนาที่เขาสนใจมาตลอด ว่าเพราะเหตุใด ‘ความสุนทรีย์’ ที่เคยมีอยู่ในผืนนาอย่างการละเล่นต่างๆ พิธีเต้นกำรำเคียว การทำพิธีไหว้พระแม่โพสพ การลงแขกที่ชาวบ้านแต่ละบ้านได้ออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แมลงและสัตว์ตัวเล็กๆ ที่เคยมีชีวิตอยู่ในท้องนา จึงหายไปจากโลกในยุคปัจจุบัน หลงเหลือเอาไว้ก็แต่ท้องนาที่ใช้ยาฆ่าแมลง เครื่องจักรขนาดใหญ่มากมาย ประเพณีที่ทำอย่างขอไปที

อ.วิจิตรจึงทดลองปรับรูปแบบลองแปลงนาให้เป็นวงกลม เพื่อสร้างสุนทรียทางศิลปะ และการใช้พื้นที่เดียวกันปลุกวัฒนธรรมข้าวอันเก่าแก่เพื่อตั้งคำถามกับการทำการเกษตรที่เปลี่ยนไป ในการทำงานศิลปะเชิงทดลองครั้งนั้นส่งผลให้วิจิตรค้นพบความ “เหมาะสม” บางอย่าง ที่ทำให้นิเวศน์สุนทรีย์มิใช่เป็นเพียงแนวคิดทางศิลปะอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต

“เรื่องโครงการนาที่เราทำก็เป็นเรื่องของ Content นะ แต่นวัตกรรมที่ได้จากวิจัย ที่เราเรียกว่านิเวศน์สุนทรีย์นั้น มันเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะมาก เราพบว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำมันเป็นเรื่องความสมดุลและความเหมาะสมของการใช้ชีวิต คือการถามตัวเองว่า มันควรเป็นอย่างนี้หรือไม่ ถ้ามันควรก็จะเป็นอย่างนี้ มันก็ควรเป็นอย่างนี้ ถ้ามันไม่ควรเป็นก็อย่าไปยอมให้มันเป็น”

เมื่อนิเวศน์สุนทรีย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทฤษฎีศิลปะ แต่ยังเป็นทฤษฎีการใช้ชีวิตด้วย แล้วเราจะเข้าใจมันได้อย่างไร ?

“นิเวศน์สุนทรีย์มันคือเรื่องความเหมาะสมนะ อาจจะฟังดูง่าย แต่ว่าความเหมาะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน ออกแบบชีวิตไม่เหมือนกัน อย่างบ้านที่เราสร้าง เรารักมันเพราะว่าบ้านเรามันเหมาะกับเราที่สุด หรือข้าวของต่างๆ บ้าน เรารู้ว่าเราจะใช้มันอย่างไร เพราะรู้ว่ามันหน้าที่ของมัน ใช้ตามแต่สิ่งที่มันเหมาะสม

สมมุติเวลาเราไปเดินห้างหรือไปซื้อของ เราอาจจะเจอของที่อยากได้ แต่พอมาถามว่าเราซื้อไปแล้วมันจะไปอยู่ตรงไหน เราจะไปใช้กับอะไร ถ้าคิดไม่ออกเราก็ไม่ซื้อ แค่นั้นเลย มันเลยไม่ใช่แค่เรื่องของสไตล์แล้ว แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่เราต้องการมากกว่า

อย่างทุกวันนี้เราก็ยังชอบเดิน Ikea อยู่นะ สนุกดี แต่ไม่ได้ซื้ออะไรกลับมาแล้ว เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เข้ากับความสุนทรีย์ในแบบของเราหรือความต้องการของเราจริงๆ”

บ้านหลังน้อยของอ.วิจิตรริมคลองมหาสวัสดิ์อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเป็นนิเวศน์สุนทรีย์ของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี ข้าวของในบ้านที่อาจไม่ได้วางเป็นระเบียบร้อย หรือมีมุมต่างๆ ของบ้านที่สวยงามเหมือนตามนิตยสาร แต่ทุกอย่างในบ้านล้วนอยู่ถูกที่ถูกทาง และเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตที่อยู่ในระบบที่มองว่าเหมาะสมแล้วสำหรับตัวเอง

ก่อนจะเริ่มพูดคุยกัน อาจารย์ยกน้ำมะนาวสดๆ มาให้พวกเราดื่มแก้กระหาย แต่ดื่มเลยคงไม่ได้ เพราะอาจารย์ยื่นกรรไกรตัดกิ่งมาให้ด้วยหนึ่งอัน พร้อมบอกพวกเราว่าให้เดินไปตัดส้มลูกจิ๋วที่ปลูกไว้มาล้างแล้วบีบใส่ จะได้รสชาติที่ดีที่สุด

ประสบการณ์ตัดส้มจากต้นมาบีบใส่น้ำอาจไม่ใช้เรื่องแปลกใหม่ แต่คงไม่ใช่ทุกครั้งที่เดินทางไปสัมภาษณ์ที่ไหนแล้วจะได้ทำอะไรแบบนี้ ความเป็นธรรมชาติที่ไร้การจัดแจงและวางแผน จึงค่อยๆ ทำให้พวกเรามองเห็นความสุนทรีย์ที่แอบซ่อนอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ หลังนี้

นอกจากการนำไปใช้กับชีวิตแล้ว อ.วิจิตรยังมองว่านิเวศน์สุนทรีย์ก็ยังเป็นแนวคิดที่ทำให้เราสามารถค้นหา “ความเหมาะสม” ของสังคมเมืองได้เช่นกัน

“ในความเหมาะสมมักจะมีคำถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนควรเก็บสิ่งไหนควรทิ้ง ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราต้องจัดการให้มาก เรียนรู้ให้มาก แล้วเราจะเริ่มมองเห็นว่าอะไรในชีวิตที่เราควรจัดการเก็บหรือจัดการปล่อย

เรารู้สึกว่าเวลามองกรุงเทพมันเหมือนเรามองกองขยะ มันดูหลากขนาด หลากสี หลากวัสดุ หลากรูปทรง หลากเวลา และไม่มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่ดีเท่าไหร่นัก ดังนั้นหากพิจารณาในเรื่องสิ่งที่ต้องเก็บสิ่งที่ต้องปล่อยมาใช้ กรุงเทพก็เป็นสถานที่ๆ ต้องคิดเรื่องนี้เหมือนกัน ถ้าอยากจะเดินต่อไปได้”

ความหลากหลายของกรุงเทพที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของสีสัน แต่หากขาดจัดการของการอยู่ร่วมกันของบริบทที่แตกต่าง ความเหมาะสมที่นิเวศน์สุนทรีย์มองก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้น และทุกคนต่างมีนิเวศน์สุนทรีย์กันเป็นของตนเอง มีความเหมาะสมในแบบของตนเอง นิเวศน์สุนทรีย์จึงยังเป็นเรื่องของมุมมองที่เรามีต่อคนอื่นด้วย

“เวลาเราไปตลาด ถ้าเราเข้าใจเรื่องวัตถุดิบทางการเกษตรมาประมาณนึง เราจะรู้แล้วว่าอาหารอะไรมีสารเคมี อันไหนเป็นอินทรีย์ เราก็จะตั้งใจเลือก ค่อยๆเลือก บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเสียเวลา ที่ต้องมานั่งเลือกหาเฟ้นหา ก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่รู้ว่าคนอื่นน่ะมีเวลาแค่ไหน แต่เรารู้ว่าเราน่ะมีเวลา เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นวิถีชีวิตของเราเนอะ เราต้องมีเวลาให้มัน”

อีกทั้งนิเวศน์สุนทรีย์ที่เราพิจารณาว่าเหมาะสมกับตนเองนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะสมกับคนอื่น

“คุณลองไปดูชาวนาในปัจจุบันก็ได้ ว่าตอนทำนาเขาต้องสวมชุดม่อฮ่อมไหม ก็ไม่ใช่ มันไม่ได้แปลว่าเขาไม่แต่งม่อฮ่อมคือผิด ไม่ใช่ชาวนา แต่นั่นเป็นนิเวศน์สุนทรีย์ของเขา ความเหมาะสมของเขา”

เมื่อได้ฟังแนวคิดของอาจารย์กันไปแล้ว เราอยากพาทุกคนเดินเล่นชมบ้านหลังน้อยหลังนี้กันต่อ

อุปกรณ์ปัดกวาดเช็ดถูที่ใส่รวมกันไว้ในตุ่ม ไม่สวยงาม แต่หยิบใช้ง่าย ดูไปดูมาก็เข้ากับบ้านอย่างประหลาด

ศาลาริมน้ำที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้มากมายจนคนแปลกหน้าอย่างเรายากจะเข้าใจ แต่อาจารย์กลับเดินไปไหนมาไหนหยิบใช้ได้อย่างง่ายดาย

กำแพงโรงทำงานศิลปะที่อาจารย์ใช้เป็นเหมือนกระดานดำที่ใช้เวลาคุยงานกับเพื่อนๆ ที่เดินทางมาที่บ้าน

เครื่องบดปลาหมึกแผ่น ที่ถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นที่บีบหลอดสี

ชุดฮาวายสีสันสดใสกับหมวกใบใหญ่ประจำกายของอ.วิจิตร และร่มสีแดงสดคันนั้นที่ทำให้เราแอบตกใจในแวบแรกที่ได้พบกัน อาจไม่ใช่ภาพของศิลปินและชาวนาในความคิดของใครๆ

แต่เมื่อใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดทั้งวัน เราก็พบว่าสีแดงสดกลางบ้านไม้ แคร่ไผ่ และทุ่งนานี้ช่างเข้ากับวิถีชีวิตของอาจารย์อยู่มากมาย และนี่เองคงจะเป็นสิ่งที่อธิบายความหมายของคำว่า “นิเวศน์สุนทรีย์” ในแบบของอาจารย์ได้ดีที่สุด ?

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read