งานชิมข้าวใหม่
จิตวิญญาณในรวงข้าวของชาวนาไทอีสาน
“การทำนามันเจ็บปวด เเต่เราทำด้วยจิตวิญญาณ เราทำให้มีความสุข”
– อาจารย์ตุ๊หล่าง แก่นคําหล้า พิลาน้อย
ถ้าพูดถึงการทำนาหรือการปลูกข้าว เราเชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงความลำบากลำบน ความอดทนและความตั้งใจ กว่าที่จะได้มาเม็ดข้าวมาสักหนึ่งเม็ด แต่ถึงแม้อาชีพชาวนาจะไม่ใช่งานง่ายๆ ชาวนาทั้งหลายก็ยังคงอุทิศทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณให้กับการทำนาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวที่ดีที่สุด จนการทำนากลายเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆ ลมหายใจของพวกเขา
“งานชิมข้าวใหม่” เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยกลุ่มชาวนาไทอีสาน ซึ่งชวนทุกคนให้ได้มาพบปะกับโสเหล่ แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศคติ มุมมอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวนาไทอีสาน รวมไปถึงเรียนรู้การพึ่งพาตนเองด้วยอาหารที่เป็นส่วนสำคัญของความมั่นคงในชีวิตเรา ผ่านกิจกรรมมากมาย เช่น
“ชิมข้าวใหม่” ให้ได้ลองชิมข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว
“เวิร์คช็อป” ที่จะทำให้เราได้รู้ถึงที่มาของวัตถุดิบจากพื้นที่ต่างๆ ได้แก่
– การทำข้าวปั้นญี่ปุ่นจาก ‘นาโอกิซัง’ พ่อครัวชาวญี่ปุ่น
– การทำเครื่องดื่ม LMO ที่เปิดสอนโดย ‘พี่อุ้ม คนึงนิตย์ ชะนะโม’
– การทำขนมข้าวโพด ของหวานพื้นบ้านอีสาน โดย ‘พี่ต๊อกแต๊ก’ แม่ครัวเอกของเราในงานนี้
– “พาแลง” โดย ‘เชฟภูมิ’ จักรภูมิ บุณยาคม Top Chef Thailand Season 2 มารังสรรอาหารมื้อเย็นให้สำหรับพวกเราทุกคน พร้อมไปกับดนตรีสดเพราะๆ จากน้องๆ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง และวงดนตรีพี่ๆ จากจังหวัดบุรีรัมย์
– “ทัวร์ทุ่งนา” โดย ‘อาจารย์ตุ๊หล่าง แก่นคําหล้า พิลาน้อย’ ที่พาเราเดินทัวร์สวนหลังบ้านให้ความรู้เกี่ยวกับพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านและการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว
ในปัจจุบันเราได้บริโภคอาหารที่ทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบ แต่โภชนาการหรือความปลอดภัยในอาหารกลับถูกมองข้ามไป วันนี้กลุ่มชาวนาไทอีสานจึงหยิบหยกเรื่องของ “ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของเรามาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้เราได้เรียนรู้ถึงอาชีพ “ชาวนา” ที่อาจารย์ตุ๊หล่างบอกว่า “การทำนามันเจ็บปวด เเต่เราทำด้วยจิตวิญญาณ เราทำให้มีความสุข”
กลุ่มชาวนาไทอีสาน
เป็นการรวมตัวกันของชาวนาที่ทำนาอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน มีเป้าหมายหลัก คือ การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวและพืชผักพันธุ์พื้นเมืองเพื่อรักษาจิตวิญญาณที่เป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ ไม่เพียงแค่อนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ปลูกได้ผลผลิตมากขึ้น มีความอร่อย หอมมากขึ้น และที่สำคัญต้องมีคุณค่าทางโภชนาการให้กับร่างกายของเราอีกด้วย
กิจกรรมชิมข้าวใหม่
ซึ่งในปีนี้ได้ทำการชิมแบบ Blind Test คือ แบ่งข้าวออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ข้าวเจ้าขาว กลุ่มพันธุ์ข้าวเจ้าสี กลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียวขาว และกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียวสี โดยที่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังได้ชิมเป็นข้าวพันธุ์อะไร เราจะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดเพื่อเขียนอธิบายถึงรูปลักษณ์ กลิ่น รสชาติ ความรู้สึก และดูว่าข้าวชนิดไหนถูกใจเรามากที่สุด เป็นการช่วยกันปรับปรุง พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีความสมบูรณ์ในแง่ของการปลูกและรสชาติ
“พบปะโสเหล่”
โสเหล่ เป็นภาษาอีสานแปลว่า พูดคุยกัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจในที่นี้คือ “ผู้คน” พี่ๆ น้องๆ ที่ต่างมาจากคนละพื้นที่ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง ร้องรำทำเพลง สังเกตเห็นอารมณ์ท่วงท่าที่รู้สึกถึงความผ่อนคลายสบายใจ ก็คงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทำให้เรายิ้มและมีความสุขเมื่อนึกถึง
“เวลคัม ดริ้ง”
เมื่อเดินทางมาถึงบ้านของอาจารย์ตุ๊หล่างในตอนเช้า พี่ๆ ก็ได้เตรียมน้ำดื่มต้อนรับพวกเรา มีให้เลือกระหว่าง “กระเจี๊ยบเปเปอร์มิ๊นท์” หรือ “น้ำอ้อยมะนาว” ช่วยให้ความสดชื่น โดยที่ผลผลิตที่นำมาทำเครื่องดื่มต้อนรับก็มาพี่ๆสมาชิกในกลุ่มชาวนาไทอีสานได้ปลูกกันมา เช่น กระเจี๊ยบและมะนาว นำมาจากไร่ติ๋ว เปเปอร์มิ๊นท์มาจากสวนอุ้ม และอ้อยมาจากไร่ครูธีร์
“ฮิวแมน เพรส”
นอกจากเครื่องดื่มที่ให้ความหวานและสดดชื่นแล้ว ก็ยังมีกาแฟที่เป็นแบบ Rok Coffee (ROK Manual Espresso Maker) ที่ใช้แรงคนในการบีบอัดความร้อนผ่านตัวกาแฟบด ทำให้ได้กาแฟที่เข้มข้นมากขึ้น
“ยินดีที่ได้พบ”
อาจารย์ตุ๊หล่างได้กล่าวต้อนรับพวกเราทุกคน แนะนำกลุ่มชาวนาไทอีสาน และเราได้ทำความรู้จักกันและกันก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรม
“ชิม ช้อป ใช้”
กิจกรรมชิมข้าวใหม่ที่จะให้ทุกคนได้ทดลองชิมและอธิบายรูป รส กลิ่น ความรู้สึกผ่านเมล็ดข้าวกว่า 16 สายพันธุ์ หลังจากที่ได้ชิมข้าวแต่ละตัวแล้ว บันทึกความรู้สึกต่างๆ ลงบนแผ่นกระดาษที่จะมีช่องของข้าวเเต่ละชนิดให้
“ละเมียด ละไม”
เชื่อเลยว่าหลายๆ คน คงไม่เคยตั้งใจกินข้าวอย่างละเมียด ละไมขนาดนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นครั้งเเรกของเราเหมือนกัน เมื่อเราได้ลองค่อยๆ กิน เริ่มจากการสังเกตรูปทรงจากภายนอกด้วยตาเปล่า สูดดมกลิ่นด้วยจมูก และค่อยๆ เคี้ยวข้าวอย่างละเอียดให้เราได้รู้สึกถึงรสสัมผัส กลิ่น ความหอมที่แตกกระจายไปทั่วในปากของเรา เป็นประสบการณ์การกินข้าวที่ไม่เหมือนครั้งไหนๆ เลย
“ข้าวโป่ง”
ข้าวโป่ง เป็นคำเรียกในภาษาอีสาน ส่วนภาคกลางเรียกว่า “ข้าวเกรียบว่าว” ทำจากข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ ข้าวชนิดนี้มีเอกลักษณ์ตรงที่ความหอมข้าวก่ำที่ชัดเจน มีรสชาติหอม หวาน เมื่อเอามาทำข้าวโป่งแล้วก็จะให้รสหวานจากตัวของมันเอง
“โอ นิ กิ ริ”
เวิร์คช็อปแรกของเราเป็นการสอนทำข้าวปั้นญี่ปุ่น โดยคุณนาโอกิเชฟชาวญี่ปุ่นที่จะมาให้ความรู้ในการทำข้าวปั้นญี่ปุ่น สิ่งที่คุณนาโอกิเตรียมมาเป็นวัตถุดิบในการทำนั้นก็มีข้าว เกลือ สาหร่าย มิโซะ และบ๊วย Umeboshi ด้วยความเหนียวของข้าวจากกลุ่มชาวนาไทอีสานสามารถนำมาทำเป็นข้าวปั้นได้โดยไม่ยาก ซึ่งคุณนาโอกิก็มีร้านอาหารซูชิที่ทำจากข้าวอยู่แล้ว จึงทำให้คุ้นชินกับการนำข้าวสวยมาทำเป็นข้าวปั้นญี่ปุ่นให้ทุกคนได้ลองทำกันดู
“แอล เอ็ม โอ”
กิจกรรมต่อมาเป็นการทำน้ำมะนาวดอง หรือที่เรียกว่า LMO ด้วยวิธีการหมักกับน้ำตาลทรายแดงเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับตัววัตถุดิบให้สามารถอยู่ได้นานขึ้น มีรสชาติเปรี้ยวหวาน สดชื่นๆ
“ขนมข้าวโพด”
ของหวานพื้นบ้านอีสาน โดยพี่ต๊อกแต๊กมาสอนการทำขนมข้าวโพดที่เป็นขนมโบราณ หากินค่อนข้างยากแล้วในปัจจุบัน
“เชฟภูมิ”
ในขณะที่ทุกๆ คนกำลังทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ เชฟภูมิก็ได้เตรียมอาหาร “พาเเลง” ไว้ให้เป็นมื้อเย็นสำหรับทุกคนในวันนี้ ซึ่งเมนูพาแลงนี้จะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่นง่ายๆ ได้แก่ ปลากับไก่ดำ
หมวกท้องถิ่น
พี่ๆ ได้สาธิตวิธีการมัดหมวกที่ชาวนาใส่กันเป็นประจำ แต่ไม่มีชื่อเรียกให้กับมัน หมวกของที่นี้จะมีลักษณะเป็นจุกด้านบน ป้องกันเหงื่อและความร้อนในตอนทำนา
“พา แลง”
อาหารเย็นสุดพิเศษจากเชฟภูมิ Top Chef Thailand และเชฟร้านอาหารป่าก์ ที่มารังสรรเมนูอาหารคาวด้วยการนำเอาววัตถุดิบพื้นบ้าน มาถ่ายทอดเป็นอาหารไทยที่มีรสชาติจัดจ้านและเป็นเอกลักษณ์ เมนูมื้อนี้ประกอบไปด้วย ฉู่ฉี่ปลากะโห้ ปลาหมอจุกเคย แกงส้มยอดมะพร้าวปลาหมอทอด ไก่ดำตุ๋นยาจีน และ ข้าวยำปลาร้าบูดูกินกับปลาหมอย่างขมิ้น
โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง
ในขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารเย็นของเชฟภูมิอย่างเอร็ดอร่อยนั้น น้องๆ จากโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง จ.บุรีรัมย์ ได้มาร้องเพลงให้เราฟังกัน มีคุณครูลี่คอยสอนเด็กๆ ด้วยการใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางที่จะนำเด็กๆ ไปเรียนรู้ชีวิตในทุ่งกว้าง บทเพลงที่คุณครูและเด็กๆ นำมาร้องให้เราฟังก็จะเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งเเวดล้อมที่ปัจจุบันกำลังลดลงเรื่อยๆ อย่างเช่น เพลงน้ำตาป่าเขา พูดถึงการที่คนทำลายป่าไม้ ภูเขา น้ำตาจากป่า น้ำใจเราหล่นหาย เป็นการสอนให้เด็กๆ ได้ความรู้สึกว่าเป็นผู้ให้ เอื้อเฝื้อกันและกัน
“ทัวร์บ้านอาจารย์ตุ๊หล่าง”
ในเช้าของวันที่ 2 อาจารย์ตุ๊หล่างได้พาทุกคนเดินสำรวจพืชพรรณพื้นบ้าน มีความหลากหลายทางชีวภาพที่แสดงถึงความมั่นคงของอาหาร และเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นับวันจะค่อยๆ เลือนหายไป
“ก่อนจากกัน”
ในระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ที่เราได้มาเรียนรู้ ใช้ชีวิตร่วมกัน กิจกรรมสุดท้ายก่อนที่เราจะเดินทางกลับบ้าน เราได้แบ่งปันความรู้สึกที่บางครั้งฟังแล้วก็เเอบยิ้ม และดีใจกับทิศทางที่พวกเรากำลังเดินไป
“มาแล้วไม่ได้โฟกัสในระบบการจัดการ แต่มาเเล้วได้ความรู้” – พี่จ๋อง
“ข้าวมันเป็นมากกว่าอาหาร แต่มันเปนจิตวิญญาณ ความตั้งใจและทุ่มเท” – พี่พิณ
“อยากให้คนเมืองได้มาสัมผัสความรู้สึกแบบนี้มากขึ้น” – พี่ศา
“มีสองข้อ มีความอยากมา และความกลัว กลัวไม่มีโอกาสได้มา จึงต้องมา” – พี่เสบียง
“เห็นพลังจากคนในกลุ่ม มองว่าบุคคลกลุ่มนี้ที่เป็นปัจจัยให้ข้าว เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อน ซึ่งเมล็ดพันธุ์เป็นผลพลอยได้ เป็นทั้งอาหารใจด้วย ไม่ใช่อาหารกายอย่างเดียว” – ครูลี่ (รร.เล็กในทุ่งกว้าง)
Contributors
จิตวัต โซวพิทักษ์วัฒนา
Writerวัยรุ่นตอนปลายที่เชื่อแล้วว่า "พุงเบียร์" นั้นมีอยู่จริง
จิตวัต โซวพิทักษ์วัฒนา
Photographerวัยรุ่นตอนปลายที่เชื่อแล้วว่า "พุงเบียร์" นั้นมีอยู่จริง