close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ‘อาหมอโต’ คุณหมอสาธารณสุข ที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาทะเลกัดเซาะบางขุนเทียน

Trawell
Contact search
Live Well 1.2k

‘อาหมอโต’ คุณหมอสาธารณสุข ที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาทะเลกัดเซาะบางขุนเทียน

6 October 2020 เรื่อง อรอารยา วรวราชัย ภาพ แทนไท นามเสน

“จำไว้เลยนะ อาหารทะเลที่อร่อยที่สุดต้องเป็นทะเลโคลน ทะเลที่เป็นหาดทรายหรือเป็นหิน กินไม่เหมือนที่นี่ ถ้าได้ลองมาชิมจะรู้ว่าต่างกันลิบเลย ที่บางขุนเทียนนี่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุด แต่ว่าตอนนี้มันหายไปไหน? ตอนนี้น้ำทะเลเซาะจนหลักเขตไปอยู่ในทะเลเป็นห่างไปเป็นกิโลแล้ว”

ประสบปัญหาที่ดินถูกกัดเซาจากทะเลมายาวนาน ทะเลคืบเข้ามามากกว่าหนึ่งกิโลเมตร คุณหมอคนหนึ่งลุกขึ้นมารวบรวมกำลังของผู้คนเพื่อเปลี่ยนแปลง หยุดวิกฤติผืนดินนี้ ?

วันนี้ทราเวล จะพาไปรู้จักกับ อาหมอโต แห่งบางขุนเทียน ผู้อุทิศตัวเองให้การทำงานทั้งงานสาธารณสุข งานชุมชน และยังเป็นส่วนเล็กๆ ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ถึงแนวคิดการทำงาน และเรื่องราวการต่อสู้เพื่อชุมชนของเขากัน

ป้าย ‘ทะเลกรุงเทพ’ ที่อยู่คู่กับแนวไม้ปักกันคลื่นของชาวบ้านที่ผุพังลงไป ส่วนแนวด้านหลังคือเสาไฟฟ้าที่ปักโดยกทม.

จุดเริ่มต้น

“จริงๆ คือจบสาธารณะสุข แต่ชาวบ้านเค้าก็เรียกหมอหมด”

จุดเริ่มต้นของอาชีพสาธารณสุขของอาหมอโตเริ่มจาก ตอนเข้ามหาวิทยาลัย อาหมอสอบได้ทุนไปเรียนสาธารณสุขที่พิษณุโลก โดยสถานที่ที่อาหมอโตได้รับมอบหมายให้ไปประจำเป็นที่แรกหลังจบการศึกษาเพื่อใช้ทุนก็คือ ‘ศูนย์สาธารณสุข เขตบางขุนเทียน’ อาหมอเล่าว่า สมัยก่อนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้คลองพิทยาลงกรณ์จะต้องไปหาหมอที่ศูนย์นี้เท่านั้น ถึงแม้ว่าการเดินทางจะลำบากมาก ต้องนั่งเรือไปสมุทรปราการ แล้วนั่งรถอ้อมมาเขตบางขุนเทียน

เมื่อหมอโตทำงานที่ศูนย์ไปได้สองปีจนคนไข้ติด ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้ย้ายจากศูนย์ใหญ่เข้ามาประจำในพื้นที่ ซึ่งเดิมทียังไม่มีศูนย์สาธารณสุข โดยชาวบ้านช่วยกันกั้นห้องในโรงเรียนสร้างเป็นคลินิกให้ใช้ทำงานได้ อาหมอโตจึงได้ย้ายเข้ามาประจำในพื้นที่นี้ จนในที่สุดก็ของบได้มาและสร้างเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ที่เป็นกิจจะลักษณะอย่างในปัจจุบัน

ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 พิทยาลงกรณ์ที่หมอโตทำงานจวบจนปัจจุบัน

หมอมวลชน

“ทำทุกอย่าง ทั้งเยี่ยมบ้าน ฉีดวัคซีนโรงเรียน ทำคลอด ตรวจที่ศูนย์”

ในพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาล ศูนย์สาธารณะสุขก็เปรียบเหมือนการด่านแรกของชาวชุมชน ไม่ว่าจะแค่ปวดหัวเป็นไข้ ไปจนถึงแม่กำลังจะคลอด ในสมัยก่อนที่ทรัพยากรทางการแพทย์ยังไม่มีมากมายนัก หมอจำเป็นก็ได้ถูกฝึกฝนให้รับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ด้วยตนเองได้ทั้งหมด

ในช่วงแรกของการประจำที่ศูนย์ย่อย การทำงาน 24 ชั่วโมง ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดนัก
หน้าที่รับผิดชอบร้อยแปด เมื่อใดที่ชาวบ้านเจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉิน คุณหมอต้องพร้อมรับมืออยู่เสมอ

แต่เมื่อให้ใจก็ได้ใจกลับมา เพราะอาหมอเล่าให้เราฟังว่า “วันๆ เราไม่ต้องไปซื้อกับข้าวหรอก ชาวบ้านเค้าจะหิ้วมาฝากเลย ต้องบอกว่าพอแล้วกินไม่ไหวแล้ว ที่ได้มายังเหลืออยู่เลย”

ร้องทุกข์

พออยู่นานเข้า อาหมอมีรู้จักคนมากขึ้น และเริ่มมีความสำคัญ ทำให้เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไรก็มักจะเข้ามาปรึกษากับหมอโต

ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเขื่อน เมื่อน้ำทะเลซัดเอาตะกอนดินออกไปจากอ่าวตัว ก (อ่าวไทยตอนใน) จะมีตะกอนดินที่พัดจากแม่น้ำลงสู่ปากอ่าวเข้ามาแทนที่ แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นขวาง ตะกอนดินที่เคยพัดมาแทนก็หายไป ชาวบางขุนเทียนจึงเริ่มประสบปัญหาจากน้ำทะเลกัดเซาะมากขึ้น เมื่ออาหมอได้ยินปัญหานี้จากปากชาวบ้านบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ อาหมอจึงตัดสินใจว่าอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง หมอโตค่อยๆ เก็บข้อมูลจากชาวบางขุนเทียนที่อยู่ริมอ่าวยาว 4.7 กิโลเมตรนี้ทั้งหมด โดยอาหมอเลือกสู้กับปัญหานี้ ด้วย 2 กลยุทธ์

Small Change, Big Move

1. ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

“ถ้าบ้านเราเอง เรายังไม่ทำอะไรถึงไปร้องแรกแหกกระเชิงขอให้ช่วย ใครเขาจะมาทำให้”

อาหมอรวบรวมกำลังจาก 6 ชุมชน รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมและทะเลกรุงเทพ’
จากนั้นก็เริ่มเข้าหา NGO เพื่อหางบประมาณ มาทำเป็นแนวกันคลื่นตัวอย่างยาว 1 กิโลเมตร เพื่อเป็นตัวอย่าง

2. ส่งเสียงให้ดังขึ้น

เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาหมอโตรู้ว่าต้องส่งเสียงของชาวบางขุนเทียนออกไป หมอโตเลือกการทำกระทู้ข่าวด้วยตนเอง และส่งไปยังสำนักข่าวช่อง ThaiPBS เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทราบข่าว และเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ในปี พ.ศ.2554-56 ชุมชนบางขุนเทียนได้มีแนวกันคลื่นยาว 4.7 กิโลเมตร ช่วยบรรเทาปัญหาลง อย่างไรก็ตามปัจจุบันแนวกันคลื่นไม้ไผ่นั้นได้ผุพังลงไปมาก เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้หมดลงหลังเปลี่ยนยุคสมัยของผู้ว่าฯ ปัจจุบันคงเหลือแนวกันคลื่นหลักที่รัฐให้การสนับสนุนระยะเพียง 1 กิโลเมตรในพื้นที่ของรัฐ

จากที่อาหมอเล่าให้ฟัง ทำให้เราพบว่า ความต่อเนื่องของนโยบายก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับชุมชน

Still Try to Survive

คำถามที่เกิดขึ้น คือ แล้วบ้านอื่นๆ อีก 3.7 กิโลเมตรล่ะ ที่แนวกันคลื่นผุพังไปแล้วล่ะ?
คำตอบก็คือ ‘ดูแลตัวเอง’
ชาวบ้านหลายครัวเรือนที่ที่ทำกินอยู่ประชิดน้ำ ต้องหาวิธีกันคลื่นพังผืนดินของตัวเองและลงทุนทำด้วยตนเอง โดยความแข็งแรงของแนวกันคลื่นนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละคน บ้านไหนมีทุนหน่อยก็ซื้อหินมา ทุนน้อยก็ปักไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ที่หาได้ เช่น ยางรถยนต์ หากว่าบ้านนั้นไม่มีทุนก็ไม่ได้ทำ และจะค่อยๆ ถูกทะเลกลืนไป

แต่สุดท้ายแล้วต้องอย่าลืมว่า ที่ดินทั้งหมดนั้นเชื่อมถึงกัน ถ้าหากว่าบ้านหนึ่งพังลงไป บ้านที่อยู่ข้างๆ หรือด้านหลัง ย่อมกระทบต่อกัน อาหมอบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปสักวันต้องถึงถนนพระราม 2 แน่นอน

แนวกันคลื่นในโครงการ ปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา

ปรัชญาการทำงานของหมอโต

“ในเรื่องของการทำงานมันต้องเข้าให้ถึงจุด ว่าแก่นแท้ของงานนั้นคืออะไร และถ้าเราทำไปแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับเราเมื่อทำไปแล้ว ภาพรวมคือคนอื่นต้องได้ผลประโยชน์ด้วยกัน ไม่ใช่แค่เราที่ได้ผลประโยชน์ แต่คนในพื้นที่ที่ทำงานต้องได้ประโยชน์ นั่นแหละคือบทสรุปที่สุดยอดแล้ว

ใส่ใจกับงานที่ทำ และทำอย่างจริงจัง ไม่เหลาะแหละ หรือเลิกเพราะว่าท้อ ถามว่าหยุดได้มั้ย หยุดได้นะ คือ หยุดให้พอมีกำลัง แล้วค่อยทำต่อ ไม่ใช่ว่าหยุดแล้วถอยไปเลย ไม่เอาแล้ว อันนี้ไม่ใช่

ทำงานแต่ละงาน คุณต้องเก็บข้อมูลมาแล้วว่า งานนี้ต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง 1 2 3 4 5 อย่าทำข้ามขั้นตอน ไม่อย่างนั้นจะเหนื่อย ให้ใจกับงาน และรีบหาทีมงานที่มีแนวทางเดียวกัน ชอบงานแบบเดียวกัน เค้าจะสนุกไปกับงานที่เราทำ ถ้าเราทำคนเดียวถามว่าเป็นไง? เหนื่อย เดี๋ยวก็ท้อ แต่ถ้าคุณทำงานเป็นทีม เป็นหมู่คณะ เป็นองค์กร เป็นเครือข่าย การที่มีต่างคนต่างแนวคิดมาช่วยกันแชร์ไอเดีย จะทำให้ประสบความสำเร็จ

ถ้าทำคนเดียวน่ะ ไม่สำเร็จหรอก คนเดียวไม่ใช่เก่ง ที่หมอทำแบบนี้คือหมอโง่ตลอด อย่าอวดว่าเป็นคนเก่ง เพราะงานบางอย่างเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า คนไหนเก่งกว่าเราอีก เอาคนเข้ามาแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ แล้วร่วมกันทำ แนวนี้ถึงจะประสบความสำเร็จ และอย่ารวบอำนาจไว้คนเดียว ให้กระจายออกไป จากนั้นเราค่อยไปตามเก็บข้อมูลมาสรุปกันจะดีที่สุด”

กล้าไม้จำนวนมากในโครงการ ปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา

ทางปั่นจักรยานศึกษาธรรมชาติที่จะพานักท่องเที่ยวจากถนนใหญ่มาสู่ป่าชายเลนและทะเลอันเงียบสงบ

ร่มไม้เขียวชอุ่มปกคลุมเกือบตลอดเส้นทาง

บ้านวังชุบโฮมสเตย์

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณหมอพยายามขับเคลื่อนก็คือเรื่องของการพยายามผลักดันการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์

ดังนั้นหากใครอยากหาอาหารทะเลสดๆ ทานก็อย่าลืมนึกถึงบางขุนเทียน อู่อาหารทะเลสดๆ ของกรุงเทพฯ หรือถ้าหากสนใจพักผ่อนสั้นๆ บ้านวังชุบโฮมสเตย์อีกหนึ่งงานของหมอโต ที่เอาความสามารถของพี่น้องแต่ละคนมาประกอบร่างเป็นโฮมสเตย์หลังนี้ ภายใต้แนวคิดอันแข็งแกร่ง ที่ไม่ใช่แค่โฮมสเตย์ แต่เป็นการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์ ที่ให้คนได้มาเรียนรู้วิถีชีวิต จากคนในพื้นที่

โดยคุณหมอยินดีแบ่งปันความรู้ให้แบบไม่มีกั๊ก ในบรรยากาศเย็นสบาย ลมโกรก ด้วยที่พักที่จุได้ถึง 20 คน พร้อมทั้งอาหารทะเลสดๆ ปรุงใหม่ๆ ทั้งหมดเสนอในราคาคืนละไม่ถึงพัน สนใจติดต่อได้ที่
https://www.facebook.com/Bannwangchoop/

 

โฮมสเตย์แห่งนี้ไม่มีถนนเข้าถึง แขกทุกคนจะต้องนั่งเรือลำน้อยข้ามคลองมายังที่พัก

น้องหมามายืนต้อนรับ

ถึงโฮมสเตย์แล้ว! เป็นบ้านพักติดน้ำที่บรรยากาศดี ลมพัดเย็นสบายมากๆ

Infinity Pool ก็มา

รวมรูปหมู่คณะที่มาเข้าพัก ณ บ้านหลังนี้

‘No one size fits all’

ผู้เขียนสังเกตว่า ทั้งเรื่องธรรมชาติ และเรื่องการทำงาน มีเรื่องคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ‘ไม่มีวิธีการใดที่เหมาะสม ไปกับทุกคน’

สำหรับการจัดการกับปัญหาน้ำกัดเซาะ สภาพภูมิประเทศทั้งตำแหน่ง ทิศทางลม ปัจจัยต่างๆ ล้วนส่งผลซึ่งกันและกัน และมีผลต่อประสิทธิภาพของวิธีแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น บางขุนเทียนเป็นพื้นดินโคลน ที่มีคลื่นลมแรง โดยเฉพาะในหน้ามรสุม สมุทรสาครโดนน้อยเพราะคลื่นพัดเฉียง แต่กรุงเทพโดนหนักกว่า และสมุทรปราการหนักที่สุด ดังนั้นการปลูกต้นกล้าต้นโกงกางที่บางขุนเทียนในบริเวณที่ดินยังไม่หนาพอจะไม่ได้ผล เพราะจะยืนต้นตายไปในที่สุด โดยสรุปแต่ละพื้นที่มีล้วนมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน จะลอกกันโดยไม่ศึกษาให้ดีไม่ได้

ฝั่งสาธารณสุขก็เช่นกัน การสั่งงานจากบนลงล่างจากข้อมูลบนกระดาษโดยที่ไม่ได้มาดูที่หน้างาน
ทำให้ไม่รู้ว่าข้างล่างสภาพการทำงานนั้นเป็นอย่างไร ก็อาจทำให้คนข้างล่างต้องรับงานหนักจนอยู่ไม่ไหว

ดังนั้นการได้ลงพื้นที่มาดูความเป็นไปที่แท้จริงอย่างถ้วนถี่ และพูดคุยกับคนหน้างาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จและมีประสิทธิภาพไม่ว่างานที่ไหนก็ตาม.

ตัวบ้านของโฮมสเตย์วังชุบเป็นบ้านไม้เก่าแก่ที่มีหน้าต่างรอบบ้านให้ลมพัดเข้ามาในตัวบ้านได้ตลอดเวลา

ท่าเรือส่วนตัว

แนวชะลอคลื่นที่ทำจากเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้ว และไม้ไผ่ปักลงดิน

ทางเดินภายในแปลงปลูกต้นกล้าในโครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา

แนวกันคลื่นหลายชั้นปักเรียงกันเพื่อกันคลื่น และสะสมตะกอนดิน

ลึกเข้าไปหลังแนวกันคลื่นหลายชั้น คลื่นที่เข้ามาจะบางลง ทำให้ดินสามารถเซ็ตตัวและปลูกต้นกล้าได้

Contributors

contributor's photo

อรอารยา วรวราชัย

Writer

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ที่ โก๊ะ เก๊ะ แก๊ะ ที่สุดในท่าพระจันทร์ ชอบของอร่อย ตกหลุมรักได้ง่าย และกำลังพยายามหาจุดบาลานซ์ระหว่าง ความมั่งมี กับ ความยั่งยืน // กรุงเทพตอนหลับใหลมีสามอย่าง เสาไฟ อากาศเย็น และคนไร้บ้าน และใช่ ชีวิตของเราต่างคู่ขนานไปกับพวกเขาตลอดมา

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read