ให้เสียงเหมียว ๆ นำทางคุณเข้าไปสำรวจย่านกันไหม?
เดินตามหางที่แกว่งไหว ๆ ซอกแซกเข้าไปในซอกซอยชุมชนอิสลามเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างกันเถอะ
วันนี้ Trawell อยากชวนทุกคนมาใส่ฟิลเตอร์นักสำรวจแมว เดินเล่นทำความรู้จักกับ ‘หมู่บ้านแมว’ ขนาดจิ๋วอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยในย่านเจริญกรุง-บางรัก อย่าง ‘ชุมชนมัสยิดฮารูณ’ ชุมชนมุสลิมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่ามีเพื่อนตัวน้อยซุกซ่อนอยู่มากมายกว่าที่คิด
‘ชุมชนมัสยิดฮารูณ’ ชุมชนที่ทำงานร่วมกับ Trawell มาอย่างยาวนานและเป็นที่ตั้งของมัสยิดเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของมุสลิมชาวบางรักมากว่า 130 ปี แต่นอกจากอาหารฮาลาลอร่อย ๆ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อภายในชุมชนแล้ว ฮารูณยังมีเอกลักษณ์เป็นน้องแมวหลากหลายสีสันที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล ให้ข้าว ให้น้ำ อยู่อีกจำนวนไม่น้อย
วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาออกเดินทางตามรอยอุ้งเท้าเล็ก ๆ ไปทำความรู้จักกับฮารูณในมุมใหม่ ที่รับรองว่านอกจากจะนุบนิบใจไปกับความน่ารักของน้องเหมียวแล้ว ยังจะได้เข้าใจและมองเห็นเสน่ห์ที่เกิดขึ้นภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ซ่อนตัวอยู่ที่นี่ไปพร้อมกัน
ป.ล. ถ้าใครอ่านแล้วอยากจัดทริปมาตามรอยน้องแมว เราขอแนะนำให้มาเยือนในวันศุกร์หลังเที่ยงเป็นต้นไป เพราะตลอดสองข้างทางจะคึกคักไปด้วยทั้งคน ทั้งแมวและอาหารฮาลาลสุดเด็ด!
(ถ้าอยากรู้ว่าบรรยากาศเป็นแบบไหน ตามไปดูสปอยได้ในคลิปนี้เลย! https://bit.ly/2Uih5bd)
มุ่งหน้าสู่ฮารูณ
ถึงแม้ชื่อฮารูณอาจจะไม่ใช่ชื่อที่ทุกคนฟังคุ้นหู แต่การเดินทางมาที่ชุมชนมัสยิดฮารูณไม่ใช่เรื่องยาก เพราะชุมชนนั้นซ่อนตัวอยู่ในซอยเจริญกรุง 36 หรือซอยสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากไปรษณีย์กลางบางรักมาเพียงไม่ไกล
ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนมัสยิดฮารูณ สิ่งแรกที่จะทักทายคุณคือถนนคนเดินเส้นเล็ก ๆ ที่ทอดยาวพร้อมเปิดต้อนรับผู้คนทุกเพศทุกวัยทุกศาสนาให้เข้ามาทำความรู้จักกับเสน่ห์ของอาหารและวัฒนธรรมมุสลิมที่ซ่อนตัวอยู่ภายใน ทุกวันศุกร์ที่มีการละหมาดใหญ่ ถนนเส้นนี้จะคึกคักไปด้วยร้านอาหารฮาลาลฝีมือชาวชุมชน ซึ่งนอกจากจะล่อตาล่อใจนักกินจากทั่วทุกสารทิศแล้ว กลิ่นหอมๆ ของอาหารก็ยังยั่วยวนใจน้องแมวในย่านไม่เบา
(ถ้าอยากรู้ว่าบรรยากาศเป็นแบบไหน ตามไปดูสปอยได้ในคลิปนี้เลย! https://bit.ly/2Uih5bd)
ทักทายเจ้าถิ่น
เดินเข้ามาได้ไม่กี่ก้าว เจ้าถิ่นสีส้มหน้าตาเอาเรื่องก็เดินมาทักทายเราซะแล้ว สมเป็นหมู่บ้านแมวซะจริง ๆ โดยสาเหตุที่ชุมชนฮารูณและชุมชนชาวมุสลิมส่วนใหญ่มักจะมีเจ้าเหมียวเป็นเจ้าถิ่น หลายคนสันนิฐานว่าอาจเป็นเพราะข้อกำหนดของศาสนาอิสลามที่ไม่ค่อยถูกโรคกับหมามากนัก สัตว์เลี้ยงสุดฮอตอันดับหนึ่งในไทยอย่างน้องหมาจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจของชาวมุสลิม
หลังจากที่ได้มาพูดคุยกับพี่ในชุมชน เราพบว่าจริง ๆ แล้วชาวมุสลิมนั้นไม่ได้จงเกลียดจงชังและถูกห้ามไม่ได้เลี้ยงหมาแต่อย่างใด แต่ยังสามารถเลี้ยงหมาเอาไว้เพื่อเฝ้าบ้าน เฝ้าอาคาร เฝ้าสวน หรือล่าสัตว์ได้ เพียงแค่ห้ามเลี้ยงเอาไว้ในบ้านด้วยเหตุผลในด้านความสะอาดเท่านั้น
โดยหากข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงชาวมุสลิมคนได้ถูกน้ำลายของน้องหมา ตามข้อกำหนดทางศาสนาจะต้องล้างน้ำถึง 7 ขั้นตอนเลยทีเดียว คือล้างน้ำผสมดิน 1 น้ำ และน้ำสะอาดอีก 6 น้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำกันได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะในเมืองที่อาจจะหาน้ำดินมาใช้ได้ยากกว่าที่ต่างจังหวัด
ถึงแม้ว่าถนนเส้นนี้จะเต็มไปด้วยอาหารฮาลาลอร่อย ๆ มากมายในวันศุกร์ แต่หลายร้านในชุมชนก็เป็นร้านที่เปิดต้อนรับทุกคนอยู่ทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ‘โรตินี่’ โรตีเจ้าเด็ดต้นซอยร้านนี้
โรตีแบบหนานุ่มเหนียวหนึบสไตล์มุสลิมดั้งเดิม ที่ ‘พี่ดีน’ ต่อยอดมาจากสูตรโรตีของคุณแม่ที่ขายในชุมชนมานานราว 20 ปี ที่นอกจากจะเปิดร้านทำสดใหม่ร้อน ๆ จากเตาอยู่ตรงนี้ทุกวันแล้ว ยังผลิตเป็น
โรตีแช่แข็ง พร้อมให้ซื้อกลับไปทำกินกันเองที่บ้าน ซึ่งเราบอกเลยว่ารสชาติไม่แพ้กินที่ร้านจริงๆ เพราะเป็นถึงสินค้าโอท็อปประจำเขตบางรักที่ถูกส่งออกไปขายตามห้างสรรพสินค้าและส่งให้ร้านอาหารต่างๆ มากมาย
แต่ถ้าใครไม่อยากทำเอง มะตะบะเนื้อ มะบะตะไก่ โรตีไข่ดาว โรตีชีสน้ำผึ้ง โรตีซุปข้าวโพด โรตีน้ำพริกเผาไก่หยอง โรตีไส้กรอก และอีกสารพัดไส้ รออยู่ในชุมชนให้ทุกคนมาลิ้มลอง!
เมื่อมองเลยขึ้นไปเหนือร้านโรตินี่ สิ่งที่ดึงดูดสายตาของทุกคนในทันทีย่อมเป็นเรือนไม้โบราณ 2 ชั้นสีเขียวเทอร์ควอยซ์ อย่างบ้านพักตำรวจน้ำ ที่อยู่คู่กับชุมชนมัสยิดฮารูณมานานกว่า 100 ปี และยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ในสภาพที่ดีที่สุด จนอดไม่ได้ที่จะอิจฉาเหล่าแมวฮารูณที่ได้มีวิวสวย ๆ แบบนี้ให้มองทุกวัน (หรือบางครั้งก็มากกว่ามอง เพราะได้ขึ้นไปปีนป่ายเหยียดตัวนอนบนนั้นซะด้วยซ้ำ!)
ตรงข้ามกับบ้านตำรวจน้ำคือลานจอดรถด้านหน้าของชุมชน อีกหนึ่งมุมโปรดในการมานอนอาบแดดของเหล่าแมวเหมียวที่รับรองว่าเดินมาผ่านต้องเจอสัก 1-2 ตัวอย่างแน่นอน โดยจุดสังเกตของลานจอดรถแห่งนี้ก็คือ Street art ของ Alex Face หรือ คุณพัชรพล แตงรื่น เจ้าของคาแรคเตอร์เด็กน้อยสามตาที่โด่งดังนั่นเอง
เมื่อเดินลึกเข้ามาในชุมชน อีกกิจกรรมหนึ่งที่เราไม่อยากให้คุณพลาด ก็คือการนั่งจิบชา ชาร้อนนมสดตำรับเก่าแก่ไปพลาง เกาคางเจ้าตัวแสบประจำย่านไปพลาง ที่ร้าน ‘ช. ชา ฮารูณ’ ร้านน้ำชาประจำชุมชนที่สืบทอดกันมายาวนานถึง 60 ปี ที่นับอายุจนถึงตอนนี้ก็เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดยมี ‘พี่โน’ เจ้าของร้านคนปัจจุบันผู้รับช่วงต่อร้านนี้มาจากคุณป้าและคุณยายเป็นคนดูแล
ถึงแม้ว่า ช. ชา ฮารูณ จะเป็นร้านน้ำชาเล็ก ๆ แต่เราบอกเลยว่าร้านนี้เป็นร้านที่มีบทบาทสำคัญมากในการดับกระหายของผู้คน โดยเฉพาะในวันศุกร์ซึ่งมีการละหมาดใหญ่ที่เหล่าเพื่อนชาวชาวมุสลิมจากหลายพื้นที่จะมารวมตัวกันหน้าร้าน ดื่มชาไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันไปในช่วงเวลาก่อนและหลังละหมาด โดยเมนูเด็ดที่ชาวฮารูณแนะนำว่าห้ามพลาดก็คือ ชาร้อนใส่ฟองนม ที่มอบให้ทั้งความหอมมันอร่อยเข้มข้นในแก้วเดียว
เดินลึกเข้าไปอีกไม่ไกล สิ่งที่รอต้อนรับทุกคนอยู่ก็คือบ้านไม้สีเทาที่มีอายุยาวนานไม่แพ้ตัวชุมชน ซึ่งมาพร้อมกับเสาสีแดงสดซึ่งตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนน
บ้านไม้ที่ดูปลอดโปร่งเย็นสบายน่านอนหลังนี้ ชาวบ้านเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า ‘บ้านเสาแดง’ เพราะเสาสีแดงสดประจำบ้านที่โดดเด่นเห็นมาแต่ไกล โดยยังคงปริศนาที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบว่า เพราะเหตุใดเสาจึงถูกทาเป็นสีแดง เพราะตั้งแต่ผู้ใหญ่หลายๆ เกิดมา เสาต้นนี้ก็ถูกทาด้วยสีแดงมาตั้งแต่ต้นแล้ว
แน่นอนว่าเมื่อมาถึงชุมชนมัสยิดฮารูณ ที่ ๆ ทุกคนจะพลาดไม่ก็คือ ‘มัสยิดฮารูณ’ นั่นเอง
มัสยิดฮารูณ (Haroon Mosque) สร้างขึ้นโดย โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน พ่อค้าชาวเมืองปนเจอะนะ ประทศอินโดนีเซีย ที่อพยพเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ณ “หมู่บ้านต้นสำโรง” หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเขตบางรัก ช่วงต้นรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมในหมู่บ้าน
เมื่อก่อนมัสยิดเคยเป็นเรือนไม้สักยกพื้นชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อเกิดการชำรุดทรุดโทรมลง รวมถึงทางการได้เข้ามาเจรจาขอแลกพื้นที่บริเวณริมน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมไปเพื่อสร้างโรงเก็บภาษีหรือ “ศุลกสถาน” บริเวณปากแม่น้ำ ชุมชนและมัสยิดจึงขยับขยายเข้ามาตั้งอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันแทน โดยทางชุมชนยังได้นำเศษไม้ส่วนหนึ่งที่หลงเหลือจากการรื้อถอนมัสยิดหลังเดิมมาใช้มาประกอบเป็นเสาและพื้นไม้ในมัสยิดหลังใหม่นี้อีกด้วย
ย่านบางรักเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายชาติมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่นี่เลยมีการเทศน์ในรูปแบบ 3 ภาษา ได้แก่ภาษาไทย ภาษาอาหรับ และปิดท้ายด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่หลากหลายได้เข้าถึงคำสอนของศาสนาให้มากขึ้น
โดยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ชาวชุมชนก็ยินดีต้อนรับอย่างเต็มใจ จะแวะเข้ามาชมความสวยงามของศิลปะอิสลามภายในมัสยิด หรือจะนั่งซึมซับบรรยากาศระหว่างที่พี่น้องมุสลิมกำลังละหมาดกันก็ยังได้
ดังนั้นไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะเป็นเหล่าแมวเจ้าถิ่นขนฟู, อาหารฮาลาลอร่อย ๆ ส่งตรงจากครัวชุมชน, ศิลปะอิสลามที่สวยงามน่าค้นหา หรือการเข้าได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่เงียบสงบ เราก็เชื่อว่า ‘ชุมชนมัสยิดฮารูณ’ จะเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่ทำให้คุณได้สนุกไปกับการเดินเล่นชมเมืองและชมแมวอย่างแน่นอน 🙂
ชุมชนมัสยิดฮารูณตั้งอยู่ใน ซอยเจริญกรุง 36 (ซอยสถานทูตฝรั่งเศส) หรือ
Location นี้เลย https://goo.gl/maps/adYqYz2gTQfyN3NL9
.
#การเดินทาง
เรือด่วนเจ้าพระยา : ธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว และไม่มีธง ขึ้นที่ท่าสี่พระยา
เรือข้ามฟาก : จากท่าเรือคลองสาน และท่าเรือไอคอนสยาม มายังท่าเรือสี่พระยา
รถเมล์ : สาย 1, 16, 35, 45, 75, 93 และ 187 ลงป้ายไปรษณีย์กลาง
BTS : ลงสถานีสะพานตากสินแล้วเดินต่อ หรือต่อรถเมล์สาย 1, 35 หรือ 75 จากป้ายหน้าโรบินสัน บางรัก
MRT : ลงสถานีหัวลำโพงแล้วเดินเลียบถนนมหาพฤฒาราม ไปเชื่อมต่อกับถนนเจริญกรุง
Contributors
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย
จิตวัต โซวพิทักษ์วัฒนา
Photographerวัยรุ่นตอนปลายที่เชื่อแล้วว่า "พุงเบียร์" นั้นมีอยู่จริง