2 วัน 1 คืนกับการสำรวจชีวิตป่าและเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ โดย WWF-Thailand กับกิจกรรมภายใต้โครงการ Living Asian Forest ที่พาทุกคนไปเรียนรู้การทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมถึงกิจกรรม Workshop การถ่ายภาพสัตว์ป่าร่วมกับกลุ่มช่างภาพสัตว์ป่าแนวหน้าของประเทศไทยจาก Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ไปโอบกอดความงดงามของธรรมชาติแห่งผืนป่ากุยบุรีกัน
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมท้องที่อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลาธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและ มีคุณค่า เช่น พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม ทำให้ได้ถูกยกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี พ.ศ. 2542 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ของ ประเทศไทย
Living Asian Forest คืออะไร?
คือ โครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund for Nature (WWF) ได้ร่วมลงนามในสัญญาเป็น พันธมิตรด้านการอนุรักษ์ในระดับโลก (Global Partnership) เป็นเวลา 5 ปี กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 บนเกาะบอร์เนียว จังหวัดกะลิมันตันตะวันออก และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ก่อนโครงการจะขยายการ ดำเนินงานมายังป่าอนุรักษ์ ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อีกหนึ่งพื้นที่ป่าตะวันตกซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2561
สำหรับในประเทศไทย โครงการ Living Asian Forest มีเป้าหมายคือการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในระยะยาว
โดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การสนับสนุนจัดซื้อกล้องดักจับ ภาพสัตว์ป่าจำนวน 120 เครื่อง โดยมีทีมนักวิจัยจาก WWF และเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนเชิงคุณภาพของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ติดตั้งกล้องทั้งหมดในจุดเป้าหมายตลอดเส้นทางเดินของสัตว์ป่าภายในอุทยานทั้งสองแห่ง
เราเดินทางมาถึงอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในช่วงสายๆ ของวันศุกร์สุดสัปดาห์ที่ดูจะครึ้มฟ้าครึ้มฝนตลอดวัน โดยวันนี้ กิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ในช่วงเช้าของกิจกรรม ทางอุทยานฯ ได้จัดกิจกรรมเดินสำรวจป่ารอบๆ อุทยาน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างทาง พี่สมนึกก็คอยฟังเสียงสัตว์อยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากเส้นทางนี้ยังเต็มไปด้วยร่องรอยการแผ้วถางไม้ของสัตว์ป่าในเวลาไม่นานนัก
นอกจากรอยแผ้วถางของกิ่งไม้ใบหญ้าแล้ว รอยเท้าอายุไม่กี่ชั่วโมงสัตว์ใหญ่ของช้างป่าที่เราเจอ บ่งบอกได้อย่างดีเรานั้นคลาดกับพวกเขาไปได้ไม่นานนัก
เส้นทางสำรวจป่าเส้นนี้ นอกจากรายรอบด้วยพรรณไม้นานาชนิดแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่พบเห็นไม้จันทน์ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มักใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในประกอบพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนักในฐานะไม้มงคลชั้นสูงอีกด้วย
ไฮไลท์ของเส้นทางนี้ คือเป็นที่ตั้งไม้จันทน์หอมต้นสำคัญ ที่ไปใช้ในประกอบเป็นพระบรมโกศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เมื่อปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา
ในช่วงบ่าย เป็นช่วงของกิจกรรมอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรม 2 ส่วนด้วยกัน คือ การทำโป่งเทียมและการล้างกระทะน้ำ
การทำโป่งเทียม
เริ่มต้นด้วยการใช้จอบขุดเปิดหน้าดินให้โป่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยประมาณ นำดินกองไว้ด้านข้างหลุม และปรับพื้นหลุมให้เรียบ แล้วนำแร่ธาตุที่เตรียมไว้ เช่น เกลือแกง เกลือไดแคลเซียมฟอตเฟต เทลงไปครึ่งหนึ่ง แล้วนำดินที่กองไว้ด้านข้างส่วนหนึ่งคลุกผสมลงไป หากเป็นก้อนเกลือแร่ให้ทุบกอ้นเกลือแร่ให้ละเอียด เพื่อให้สัตว์ป่ากินได้สะดวกขึ้น ทำสลับกันไปเรื่อยๆ
สุดท้ายให้นำดินที่เหลือทั้งหมดกลบเคล้าคลุกผสมให้ทั่วทั้งโป่ง เกลี่ยดินบางจากด้านข้างอีกเล็กน้อยเป็นชั้นบางๆ แล้วตักน้ำราดไปบนโป่งพอชุ่ม เพื่อให้โป่งเกิดการขยายตัวและเกิดกลิ่นกระจายถึงสัตว์ป่าในพื้นที่โดยรอบ
ล้างกระทะน้ำ
กิจกรรมถัดมา เป็นกิจกรรมล้างกระทะน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับเป็นพื้นที่แหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า ซึ่งจะมีประโยชน์มากในช่วงหน้าแล้งที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติจะหายากในฤดูกาลดังกล่าว โดยก่อนจะล้างกระทะน้ำ ต้องมีการตักเอาน้ำเดิมและสิ่งปฏิกูลในกระทะออกให้หมดเสียก่อน หลังจากล้างกระน้ำเสร็จแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเติมน้ำใหม่เข้ามา
จากนั้น ทางคณะได้ย้ายไปยังจุดเรียนรู้เรื่องกล้องดักจับภาพสัตว์ป่า (Camera Trap หรือ Trail Camera) ต่อในส่วนต่อไป โดยในพื้นที่นี้ มีเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับกล้องดักจับภาพสัตว์ป่า (Camera Trap หรือ Trail Camera) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่โครงการ Asian Living Forest ให้การสนับสนุนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเรื่องสัตว์ป่าตลอดมา
กล้องดักจับภาพสัตว์ป่า (Camera Trap หรือ Trail Camera) เป็นกล้องที่มีระบบการทำงานด้วยลำแสงอินฟราเรด มีความสามารถในการจับภาพความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในป่าใหญ่ที่เดินตัดผ่านระบบกล้องโดยอัตโนมัติโดยไม่ให้พวกมันรู้ตัว กล้องประเภทนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2533 เพื่อประเมินความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าและช่วยให้นักอนุรักษ์วางแผนรักษา ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ทางคณะได้เดินทางต่อไปยังกิจกรรมไฮไลท์ในครั้งนี้ที่ทุกคนต่างรอคอย… นั่นคือ กิจกรรมส่องสัตว์ป่า เพื่อเยี่ยมชมกับเหล่าสิงสาราสัตว์ผู้เป็นเจ้าบ้านแห่งกุยบุรี
โดยกิจกรรมนี้ได้รับการแนะนำและร่วมมือโดยกลุ่มช่างภาพ Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของเหล่าช่างภาพสายสัตว์ป่าจากทั่วประเทศไทย ที่ร่วมกันผลิตสื่อเนื้อหาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกสู่สังคมมาตลอดหลายปี เป็นกิจกรรมที่เรียกว่าได้เห็นมืออาชีพทำงานกันอย่างใกล้ชิด
มาส่องสัตว์กันแบบนี้ เลนส์ Super-Telephoto ย่อมเป็นของติดตัวประจำช่างภาพกันเป็นแน่แท้
ใครที่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ดั่งใจ หรือได้มองเห็นสัตว์ป่าผ่านเลนส์ระยะไกลจนเหมือนใกล้ราวกับอยู่หน้า ย่อมเรียกรอยยิ้มจากความงามที่ได้พบเห็นจากธรรมชาติได้กันทุกคน
ขณะที่รถของคณะเดินทางกำลังเคลื่อนผ่านแนวป่าสนอย่างช้าๆ เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น
ฝูงกระทิงป่าเข้ามาในระยะไม่ถึง 100 เมตรจากรถของคณะเดินทาง จนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า สร้างความตื่นเต้นและตกใจให้กับทุกๆ คนเป็นอย่างมาก เพราะว่านี่อาจเป็นประสบการณ์ได้เจอกระทิงป่าครั้งแรกในชีวิตของใครหลายๆ คนกันเลยทีเดียว
กระทิงน้อยตัวสุดท้ายวิ่งอยู่ปลายแถวของฝูง ในจังหวะที่กำลังข้ามถนน เราไม่พลาดที่จะเก็บจังหวะเคลื่อนไหวของกระทิงน้อยตัวนี้ไ้ว้ให้ได้แม้เพียงเสี้ยววินาทีก็ตาม
เรียกว่าปลุกสัญชาตญาณนักล่าภาพของช่างภาพทุกคนในตอนนี้ให้ลุกเป็นไฟกันแทบในจะทันที !!!
เราปิดท้ายกิจกรรมของวันนี้ ณ จุดชมสัตว์ป่าโป่งสลัดใด ซึ่งเป็นจุดชมสัตว์ป่าจุดสำคัญของอุทยานฯ ที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นฝูงสัตว์ป่าอย่างกระทิงและช้าง ออกมาให้ทุกคนได้ยลโฉมกันเป็นประจำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ๆ ช่างภาพของ Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว ไม่พลาดที่จะเก็บบรรยากาศ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการถ่ายภาพสัตว์ป่าแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิด
ในช่วงหัวค่ำ เป็นกิจกรรมบอกเล่าประสบการณ์ถ่ายภาพสัตว์ป่า จากช่างภาพระดับประเทศสองท่าน ได้แก่ คุณบารมี เต็มบุญเกียรติและคุณสมิทธ สูติบุตร
สุดท้ายนี้ ทาง Trawell Thailand ต้องขอขอบคุณ WWF-Thailand และทีมช่างภาพสัตว์ป่าจาก Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว สำหรับกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ทำให้เราได้ยลโฉมความงดงามของอุทยานแห่งชาติกุยบุบรีในครั้งนี้ด้วย
ขอบคุณครับ/ค่ะ
Contributors
แทนไท นามเสน
Writerนักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
แทนไท นามเสน
Photographerนักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม