เมื่อพูดถึง ‘ปากคลองตลาด’ ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ทุกคนย่อมนึกถึงความคึกคักของการเจรจาค้าขาย ดอกไม้สวยๆ นานาชนิดที่เรียงรายอยู่สองข้างทาง ผักผลไม้สดๆ ส่งตรงจากสวน และเสียงเรียกจากพ่อค้าแม่ค้าที่ทักทายคนซื้ออย่างกระตือรือร้น
แต่ภายใต้ความสะดวกสบายคึกคักแบบนั้น วันนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ที่อาจจะดูธรรมดาในสายตาใครหลายคน แต่กลับเป็นบุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในปากคลองตลาดแห่งนี้ เพราะพวกเขานี่แหละคือผู้ที่ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ในตลาดให้มุ่งหน้าไปสู่จุดหมาย ขับเคลื่อนจริงๆ นะไม่ใช่คำเปรียบเปรย!
เพราะเขาเหล่านั้นคือพี่ๆ ‘วินเข็นดอกไม้แห่งปากคลองตลาด’ นักเข็นผักและดอกไม้มือโปรที่รับหน้าที่ส่งผัก ผลไม้ และดอกไม้สดๆ ตามแผงร้านต่างๆ ไปทั่วตลาดนั่นเอง แต่เบื้องหลังอาชีพที่ดูเหมือนจะเรียบง่ายไม่ซับซ้อนแบบนี้จะมีอะไรซ่อนอยู่ ตามเข้ามาในปากคลองตลาดไปรู้จักพวกเขากับเราได้เลย!
เสื้อวินฟักทองและดอกกล้วยไม้
‘วินเข็นดอกไม้’ เป็นชื่อที่พี่ น้า ป้า ลุง ที่เราพบเจอในตลาดเรียกขานตัวเอง โดยมีที่มาจากเสื้อวินสีสวยที่พวกเขาต้องสวมใส่ตลอดเวลาที่ทำงานรับจ้างขนส่งผักหรือดอกไม้ในปากคลองตลาด ‘นักเข็นผัก’ ทุกคนจะต้องลงทะเบียนซื้อเสื้อวิน และจ่ายค่าเช่าเบอร์รายวันเพื่อเข้าระบบอย่างเป็นทางการจึงจะเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้
เสื้อวินของพี่ๆ จะแบ่งออกเป็นสองสีคือ สีเขียวและสีชมพู โดยพี่วินที่สวมเสื้อวินสีเขียวจะรับส่งเฉพาะพืชผัก ส่วนเสื้อสีชมพูจะรับส่งเฉพาะดอกไม้เท่านั้น นอกจากนี้เมื่อสังเกตดูที่ด้านหลังของเสื้อทั้งสองสีดีๆ แล้ว เราก็จะพบกับกิมมิกเล็กๆ น่ารักเป็นรูปภาพของ ‘ฟักทอง’ และ ’ดอกกล้วยไม้’ สื่อถึงสิ่งที่พวกเขารับจ้างเข็นไปส่งตามจุดต่างๆ อีกด้วย
เลือกเป็นฟรีแลนซ์หรือพนักงานประจำก็ทำได้
เมื่อมองการทำงานของเหล่าวินเข็นดอกไม้แห่งตลาดปากคลองดีๆ แล้ว เรารู้สึกว่าช่างคล้ายกับการทำงานฟรีแลนซ์อยู่มากทีเดียว เพราะทุกคนสามารถรับงานเข็นผักจากร้านผักร้านไหนก็ได้ไม่มีข้อผูกมัด ในขณะเดียวกัน ก็ยังมี ‘พนักงานประจำ’ หรือลูกจ้างประจำร้านที่คอยขนส่งของให้ลูกค้าแต่ละร้านโดยเฉพาะอีกด้วย จุดสังเกตของเหล่าพนักงานประจำที่ว่าก็คือ พวกเขาจะไม่มีเสื้อวินและจะช่วยขนส่งผักจากแค่ร้านใดร้านหนึ่งที่ตัวเองทำงานอยู่เท่านั้น
วินผู้มาเยือนจากต่างถิ่น
ถึงปากคลองตลาดจะดูเหมือนเป็นโลกใบเล็กของวินเข็นดอกไม้ที่มีระเบียบเป็นของตัวเองและตัดขาดจากโลกภายนอก แต่นานๆ ครั้งก็จะมี ‘ผู้มาเยือนจากต่างถิ่น’ ในเสื้อวินหลากสีแวะเวียนเข้ามาเช่นกัน เช่น เหลือง ม่วง แดง น้ำตาล ฯลฯ ตามสีที่ตลาดของแต่ละคนกำหนด โดยผู้มาเยือนจะสามารถเข็นผักหรือดอกไม้ ‘เข้ามา’ ในปากคลองตลาดได้เท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิเข็นผักออกไปจากที่นี่โดยเด็ดขาด เพราะเป็นข้อตกลงที่ตลาดแต่ละแห่งได้ทำร่วมกันไว้
การแบกรับความเสี่ยง
การจะมาเป็นวินเข็นดอกไม้ นอกจากจะต้องเสียค่าเบอร์ราวๆ 3,000 บาทแล้ว ยังต้องเสียค่าเช่าเสื้อรายวันอีกวันละ 35 บาทด้วย พี่วินทุกคนจึงต้องบริหารจัดการเวลาทำงานและรายได้อย่างเคร่งครัดเสมอเพื่อไม่ให้ขาดทุน พี่ๆ บอกเราว่ารายได้จากการขนผัก ขนดอกไม้จะได้รับเป็นครั้งๆ ไม่มีการเหมาวัน ไม่ต่างจากการเป็นวินมอเตอร์ไซค์เลย โดยค่าจ้างส่วนใหญ่จะเริ่มต้นตั้งแต่ 10 บาท ไปจนถึงประมาณ 60 บาท ต่อครั้ง แล้วแต่ระยะทางและปริมาณที่ต้องส่ง
บริหารจัดการเวลาชีวิตได้ด้วยตนเอง
ถึงแม้รายได้ต่อวันจะน้อยนิดและการทำงานก็เหนื่อยแสนเหนื่อย แต่พี่วินทุกคนก็ยังเลือกที่จะทำงานนี้ต่อไป เพราะวินเข็นดอกไม้แห่งปากคลองตลาดเป็นอาชีพที่บริหารจัดการเวลาชีวิตได้ด้วยตนเอง ไม่มีใครมากำหนดว่าพวกเขาต้องเข้างานกี่โมงหรือต้องไปนั่งรอที่ไหน ใครอยากทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงเช้าของอีกวันก็ไม่มีใครว่า ใครอยากเข้ากะเช้า กะสาย กะบ่าย กะเย็น หรือกะดึก ก็สามารถเลือกและเปลี่ยนแปลงเองได้เสมอ อาชีพนี้จึงเหมาะที่จะเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมยามว่างจากทำงานอื่นๆ เพราะยืดหยุ่น และยังมีลูกค้าแน่นอนตลอดทั้งวัน
ฟันเฟืองเล็กๆ ที่แสนสำคัญแบบนี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในปากคลองตลาดเท่านั้น แต่ยังซ่อนตัวอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่แน่รอบตัวคุณตอนนี้ก็อาจจะมีนะ ลองสังเกตแล้วมาทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้นกันเถอะ
Contributors
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Photographerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย