“พี่อยากให้ที่นี่เป็นซักที่นึงในโลกนี้ ที่ทุกคนสามารถเลือกทานอาหารได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะแพ้หรือจะไม่เป็นมังสวิรัติ เพราะชีวิตในโลกข้างนอกมันยากกับเขามากอยู่แล้ว เราอยากให้เขาเข้ามาแล้วรู้สึกว่าที่นี่คือที่ๆไม่จำเป็นต้องกังวลและสามารถมีความสุขกับการกินอาหารได้จริงๆ”
นี่คือคำบอกเล่าของ ‘พี่ป่าน วชิรญา’ เจ้าของร้านอาหารมังสวิรัติเล็กๆใกล้กับถนนข้าวสาร ที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องชวนพี่สาวคนนี้มานั่งจับเข่าคุยกันยาวๆให้ได้สักครั้ง และแล้ววันนี้เราก็ได้มีโอกาสแวะเวียนเข้ามายังอาณาจักรของผักผลไม้ที่มีชื่อว่าร้าน ‘Mango’ แห่งนี้ในที่สุด ถ้าใครอยากเข้ามาทำความรู้จักกับพี่ป่านและการทานอาหารมังสวิรัติแบบสนุกๆ ไปด้วยกันก็ตามเรามาทางนี้ได้เลย!

ชื่อร้าน ‘Mango’ มาจากอะไร?
เป็นคำถามแรกที่เราเลือกถามพี่ป่านโดยไม่ได้คาดคิดว่าชื่อนี้จะมีประวัติที่ลึกซึ้งและน่าสนใจกว่าคิด เพราะ ‘แมงโก้’ นั้นไม่ได้หมายถึงมะม่วงแต่อย่างใด แต่กลับมาจากชื่อของแมวตัวแรกที่พี่ป่านเลี้ยงต่างหาก! อ้าว แล้วชื่อแมวมันมาเกี่ยวอะไรกับร้านอาหารมังสวิรัติล่ะเนี่ย
“ชื่อนี้มาจากสาเหตุที่เราตั้งใจเปิดร้านนี้ขึ้น เพราะเราตั้งใจจะนำเงินจากตรงนี้มาใช้ในการทำอาสาช่วยเหลือน้องหมาน้องแมว ก็เลยเลือกใช้เป็นชื่อแมวตัวแรกของเรานี่แหละมาตั้ง”
ในขณะที่เรายังคงทึ่งไม่หายกับคำตอบที่เรียบง่ายนี้ พี่ป่านก็ทำให้เราตกใจเพิ่มขึ้นอีกระดับด้วยการเล่าเพิ่มว่า นอกจากเหตุผลในเรื่องของการช่วยเหลือหมาและแมวแล้ว การเปิดร้าน Mango แห่งนี้ขึ้น ยังมาจากอีกเหตุผลนึงที่สำคัญและเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตของพี่ป่านไปโดยสิ้นเชิงอย่าง ‘การป่วยไข้’ ด้วย


ย้อนกลับไปในช่วงที่พี่ป่านเดินทางกลับมาจากการทำงานอเมริกา พี่ป่านตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคไทรอยด์แบบไฮเปอร์ ซึ่งถือเป็นไทรอยด์ในรูปแบบที่อันตรายที่สุด เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้อย่างมากมาย และตัวพี่ป่านเองก็ได้รับอาการแทรกซ้อนของโรคหัวใจโตและหัวใจเต้นผิดจังหวะมาเพิ่มจนทำให้น้ำหนักตัวค่อยๆลดต่ำลงจนเหลือเพียง 42 กิโลเท่านั้น ในช่วงนั้นพี่ป่านและคุณแม่พยายามหาทุกวิถีทางที่จะช่วยในการรักษา หลังจากลองและล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน พี่ป่านก็ตัดสินใจเริ่มลองทานมังสวิรัติ
พี่ป่านตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์และเก็บหมูกะทะของโปรดเข้ากรุ ก่อนจะเริ่มทานผักมากขึ้นทีละนิดๆ อะไรอร่อยก็กิน อะไรที่ไม่อร่อยก็ไม่กิน เลี้ยงชีวิตด้วยไข่เจียว ผัดผัก และแกงจืดมาเรื่อยๆจนกระทั่งมั่นใจมากขึ้น จึงเริ่มขยับเพิ่มดีกรีมาทานอาหารเจ ซึ่งมีข้อห้ามในการกินไข่และผักที่มีกลิ่นฉุนเพิ่มขึ้นแทน แน่นอนว่าพี่ป่านก็ยังคงทำได้ดี แต่สิ่งที่ไม่ได้ดีไปด้วยกลับกลายเป็น ‘อาการของโรคไทรอยด์’ ที่ดิ่งแย่ลงอย่างหนัก

“คุณเป็นไทรอยด์ ร่างกายคุณเมตาบอลิซึ่มทำงานหนักกว่าคนทั่วไป 4 เท่า ถ้ากินผักอย่างเดียวแล้วคุณจะเอาโปรตีนจากไหน คนทั่วไปอาจจะหาโปรตีนจากถั่วได้ แต่คุณไม่ใช่ คุณต้องหาบาลานซ์ของตัวเอง”
เป็นคำพูดของคุณหมอที่ทำให้พี่ป่านได้รู้ว่า การทำอะไรอย่างสุดโต่งนั้นไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนและการกินผักอย่างเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราสุขภาพดีแต่อย่างใด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพี่ป่านจึงเริ่มกลับมาทานมังสวิรัติควบคู่ไปกับการทานเนื้อสัตว์ในบางมื้อ และเมื่อมีโอกาสในการเลือกสรรค์วัตถุดิบต่างๆมากขึ้น พี่ป่านจึงเริ่มนำความรู้ในเรื่องของโภชนาการและfood scienceที่ได้เคยร่ำเรียนมาผสมผสานกับประสบการณ์การทำงานเป็นบาเทนเดอร์และนักออกแบบเมนูอาหาร แล้วสร้างสรรค์เมนูมังสวิรัติสนุกๆที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมามากมาย และเมื่อเรื่องนี้ได้มาประกอบกับเรื่องของการทำอาสาเพื่อช่วยเหลือหมาและแมวจรจัดที่เป็นความชื่นชอบส่วนตัว ร้าน Mango แห่งนี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด

จากการรับฟังประวัติที่ทั้งยาวนานและเข้มข้น เราก็แทบจะอดใจไม่ไหวแล้วที่จะได้ลองชิมอาหารที่ถูกกรั่นกรองออกมาจากฝีมือของพี่สาวที่เต็มไปด้วยความแข็งแกร่งคนนี้ การถามไถ่ด้วยคำพูดด้วยอย่างเดียวคงจะไม่พอ เราจึงขอเมนูจากพี่ป่านมาเลือกดูเพื่อสั่งอาหาร รอไม่นานเมนูหนาปึกสองเล่มใหญ่ก็มาวางอยู่ตรงหน้าเรา
เมนูของร้าน Mango แยกออกเป็นอาหาร 1 เล่ม และเครื่องดื่มอีก 1 เล่ม โดยอาหารทั้งหมดมีมากถึง 103 เมนู แถมยังมีตัวหนังสือละเอียดยิบกำกับใต้ชื่อของทุกเมนูอีกด้วย พี่ป่านเล่าให้เราฟังว่าค่อยๆคิดและสร้างสรรค์ทั้ง 103 เมนูขึ้นมาด้วยตัวเองและอยากเขียนคำอธิบายส่วนทุกประกอบอย่างละเอียดที่สุด เพื่อให้คนที่แพ้อาหารสามารถเลือกสั่งอาหารที่ตัวเองกินได้อย่างสบายใจและมีทางเลือกสนุกๆไม่จำเจ
“ที่เมืองไทยเวลาพูดถึงมังสวิรัติหรือเจ แค่หลับตาก็เห็นภาพแล้วอ่ะ ใชไหม เต้าหู้ลอยมาเลย ต้มจับฉ่าย ผัดผัก โปรตีนเกษตร หมี่กึง โปรตีนเกษตรผัดขิงนี่เป็นเมนูคู่ชาติเลย ร้านเจทุกร้านต้องมี พี่ก็เลยสงสัยว่าทำไมเราไม่ทำอะไรที่มันแปลกใหม่บ้าง แล้วก็เริ่มปรับสูตรมาเรื่อยๆ อะไรที่มันเคยใส่เนื้อสัตว์ก็ทำเหมือนเดิม แค่เอาเนื้อสัตว์ออก เอาออกแล้วต้องใส่อะไรเพิ่มเพื่อไม่ให้ขาดโปรตีนก็ค่อยคิดหาวิธีกันต่อไป”
และเมื่ออาหารเริ่มทยอยมาเสิร์ฟก็เป็นดังที่พี่ป่านว่าจริงๆ เพราะอาหารทุกจานบนโต๊ะนั้นเต็มไปด้วย ‘ความสนุก’ อาหารทุกจานมีสีสันสดใส จานใหญ่ชวนลิ้มลองและไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อน เล่นเอาคนไม่กินผักอย่างเรายังน้ำลายสอ


พี่ป่านบอกว่า ในการคิดเมนูขึ้นมา 1 เมนูจะแบ่งอาหารออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้รู้ว่าใน 1 จานจะต้องมีสารอาหารอะไรบ้าง จากนั้นจึงทำการดัดแปลงส่วนผสมที่คนมักจะมีอาการแพ้เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ให้รสชาติและคุณประโยชน์ใกล้เคียงกันหรือมากกว่า เช่น ถั่วลิสง ทางร้านจะเลือกใช้ถั่วลูกไก่หรือพายนัทแทน ทุกๆ เมนูและส่วนผสมของอาหารในร้านนี้จึงผ่านความใส่ใจในทุกรายละเอียดอย่างรอบคอบที่สุดเสมอก่อนจะนำมาเสิร์ฟยังโต๊ะอาหาร
“ลูกค้า 90% ของเราเป็นชาวต่างชาติ แล้วชาวต่างชาตินี่แพ้เยอะมาก แพ้ถั่ว นม แป้งสาลี เต้าหู้ ถั่วเหลือง สัปปะรด บางคนมาที่ร้านบอกว่ากินได้แค่ข้าวสวยกับผักนึ่ง คนพวกนี้บางคนรวยมากนะ แต่ชีวิตมันกลับถูกจำกัดอยู่แค่นั้น พี่เลยมองว่าแล้วถ้าเป็นเราเราจะอยู่ยังไง เวลาพี่ทำเมนูพี่เลยจะมีส่วนนึงที่ทำเพื่อคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เค้าได้มีตัวเลือก ให้ที่นี่เป็นซักที่นึงในโลกนี้ที่เค้าสามารถเลือกทานอาหารได้อย่างสบายใจและมีอิสระ”


เราพยักหน้าหงึกหงัก ก่อนจะเอ่ยถามถึงอีกสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยเป็นอย่างสุดท้าย นั่นก็คือรูปแบบของการทานวีแกนในปัจจุบันซึ่งมีการรณรงค์กันอย่างแข็งขัน ทั้งในรูปแบบที่ปกติและในรูปแบบที่สามารถถือได้ว่าเป็นการรบกวนหรือสร้างวุ่นวายให้กับผู้อื่น ในความคิดเห็นของพี่ป่านนั้นเป็นอย่างไร
“พี่ขอเรียกว่าเป็นกลุ่มที่ล่าอาณานิคม คือเป็นวีแกนแบบสายสตรองมาก ใครอยู่ใกล้ชั้นคนนั้นต้องเป็น ถ้าไม่เป็นคือเธอเป็นคนเลว สำหรับพี่ ไม่กินเป็นเรื่องดี ชักชวนกันเป็นเรื่องดี แต่การที่คุณจะไปฟันธงว่าคนนั้นเลวคนนี้ชั่วเพราะการกินหรือไม่กินมังสวิรัติมันไม่ใช่ ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเอง ถ้าเราจะทำก็ทำกับตัวเอง ถ้าเขาอยากทำเดี๋ยวเขาก็ทำเอง อะไรที่เกิดจากความมุ่งมั่นของตัวเองมันหนักแน่นกว่าการมีใครบอกให้ทำอยู่แล้ว น้องรู้จักเทวทัศน์มั้ยล่ะ เทวทัศน์เป็นมังสวิรัตินะ แล้วเป็นยังไงล่ะ เราจะเอาอะไรมาตัดสินว่าใครดีไม่ดี ทุกอย่างมันอยู่ที่เจตนา”


การเดินทางที่ยาวนาน ประสบการณ์ และอุปสรรคของชีวิตที่มากเกินกว่าจะมีใครเลียนแบบของพี่ป่าน คงเป็นความบังเอิญที่ช่วยหล่อหลอมให้ร้าน Mango แห่งนี้กลายเป็นอาณาจักรที่แสนปลอดภัยของทั้งผักผลไม้นานาชนิดและมนุษย์ทุกคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เปิดรับไม่ว่าจะเป็นคนที่กินมังสวิรัติหรือไม่ก็ตามให้สามารถเข้ามามีความสุขร่วมกันได้ เราจึงนึกอยากขอบคุณความเข้มแข็งทั้งหมดที่ทำให้พี่ป่านสามารถผ่านเรื่องราวต่างๆเหล่านี้มาได้จนทำให้สถานที่ดีๆแบบนี้เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ได้จริงๆ
การได้มาพูดคุยกับพี่ป่านในวันนี้ทั้งสนุก น่าทึ่ง และเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังรู้สึกว่าอาหารนี่แหละที่จะช่วยอธิบายความเป็นร้าน ‘Mango’ ได้ดีที่สุด ว่าแล้วก็ขอตัวไปกินอาหารอร่อยๆตรงหน้าต่อก่อนนะ และถ้าใครอยากทำความรู้จักกับการทานมังสวิรัติในแบบที่สนุกกว่าที่เคยอย่างนี้ ก็อย่าลืมแวะมาที่ร้าน Mango กันได้เลย

‘ร้าน Mango’ ตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้กับถนนข้าวสาร สามารถนั่งรถเมล์สาย 3, 6, 9, 15, 30, 32, 33, 43, 64, 65, 82, 524 มาลงที่ป้ายบางลำพูได้เลย
Contributors

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย
