close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Preet Nagar Artist Residency เทศกาลศิลปะริมชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน ที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารว่า “ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน”

Trawell
Contact search
Go Well 1.2k

Preet Nagar Artist Residency เทศกาล
ศิลปะริมชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน
ที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารว่า
“ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน”

29 July 2020 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง ภาพ กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

“งานศิลปะเป็นของใคร? ใครคือคนที่สมควรได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงมันบ้าง? เกือบทุกครั้งงานศิลปะกลายเป็นของฟุ่มเฟือยที่ถูกจำกัดไว้สำหรับเฉพาะคนชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น เราจัดแสดงงานในเมือง ขายบัตรแพงๆ มีคนรวยๆ มีคนที่สนใจศิลปะมาดู แต่คนที่เรื่องราวเหล่านั้นกำลังพูดถึงกลับไม่สามารถเข้าถึงมันได้เลย พวกเราอยากลองตั้งคำถามกับสิ่งนั้นก็เลยจัดงานนี้ขึ้น พาศิลปินเข้ามาศึกษาเรื่องราวของชุมชน สร้างงานในชุมชน และจัดแสดงมันเพื่อคนในชุมชน”
— Ratika Singh

4 ชั่วโมง บนเครื่องบินจากกรุงเทพสู่ Mumbai
2 ชั่วโมง บนเครื่องบินจาก Mumbai สู่ Chandigrah
5 ชั่วโมง บนรถบัสจาก Chandigrah สู่ Amaritsar
30 นาที จาก Amaritsar สู่ Preet Nagar

11 ชั่วโมง 30 นาที เป็นระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด ที่เราใช้ไปเพื่อเดินทางเข้าสู่ “Preet Nagar” หมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อมีความหมายว่า “ดินแดนแห่งความรัก” ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาบ ริมเขตแดนที่มีข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างเมือง Amaritsar ประเทศอินเดียและเมือง Lahore ประเทศปากีสถานเพียงไม่กี่กิโลเมตร เพื่อมาร่วมงาน “Mela” เทศกาลศิลปะเล็กๆ ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานของเหล่า Artist in Residence จากหลากหลายประเทศที่มาใช้ชีวิตและศึกษาเรื่องราวริมขอบชายแดนตลอด 1 เดือนเต็ม ก่อนจะสร้างงานศิลปะที่สะท้อนมุมมองแตกต่างหลากหลายขึ้น ณ หมู่บ้าน Preet Nagar แห่งนี้

“รัตติกา ซิงค์” หนึ่งในสองสาวพี่น้องซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดงานบอกเราว่า ชื่อ “Mela” หมายถึง “งานเทศกาล” เพราะนิทรรศการศิลปะอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับชาวบ้าน แต่งานเทศกาลคือสิ่งที่เป็นเรื่องของทุกคนเสมอ ดังนั้นงานนี้จึงไม่ใช่นิทรรศกาลศิลปะเท่ๆ ที่มีแต่คนชิคๆ มาเดินจิบคราฟต์เบียร์อวดเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ แต่เต็มไปด้วยเด็กๆ ในหมู่บ้านที่กระโดดโลดเต้นเล่นว่าวกลางทุ่งนา หนุ่มสาวชาวบ้านที่เต้นรำยาวนานแบบไม่มีพลังหมด พ่อครัวที่ปรุงอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบสวนครัวเสิร์ฟให้คนในงานได้ชิมกันตลอดทั้งวัน การแสดงพื้นบ้านหาชมยากจากเมืองต่างๆในแคว้น และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างศิลปินกับชาวชุมชนผู้เป็นส่วนหนึ่งของงานอย่างใกล้ชิดที่สุดที่เราเคยเห็น

Artist Residency อาจเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ Residency ที่ออกแบบกิจกรรมทุกอย่างด้วยหัวใจ เพื่อให้ “ทุกคน” สบายใจที่จะมาแลกเปลี่ยนความสุขผ่านศิลปะด้วยกันมากขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เราได้เจอ

11 ชั่วโมง 30 นาที (ที่ยังไม่รวมการรอตรวจวีซ่าเข้าเมืองนาน 2 ชั่วโมง และไฟลท์บินต่างๆ ที่ดีเลย์กันเป็นพัลวัน) กลายเป็นเวลาที่โคตรคุ้มค่าไปเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราได้รับจากที่นี่ เพราะงั้นในเวลาไม่กี่นาทีนี้ เราอยากชวนทุกคนให้เดินทางเข้ามารับพลังงานดีๆ ไปจากเทศกาลเล็กๆ ในหมู่บ้านแห่งความรักหมู่บ้านนี้ไปด้วยกัน

กลุ่มผู้หญิงชาวอินเดีย

เด็กๆ เล่นว่าวกันสนุก ใต้ท้องฟ้าสีสดใส

Here we are, Preet Nagar

“Finally We made it!!”

เป็นคำแรกที่เราร้อง (เกือบๆ จะทั้งน้ำตา) เมื่อเห็นหน้า ‘ซาเมีย ซิงค์’ (Samia Singh) เพื่อนศิลปินสาวชาวอินเดียที่เพิ่งเดินทางมาจัดกิจกรรม Door to Asia ที่กรุงเทพเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคนชวนให้เราแวะมาเที่ยวงานเทศกาลที่เธอกับพี่สาวอย่าง ‘รัตติกา ซิงค์’ (Rattika Singh) และทุกคนในครอบครัวจัดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้

เพราะแผนการเดินทางด้วยรถบัสของเราเละเทะไม่เป็นท่า ด้วยรถที่ติดยาวตลอดทางเพราะดันไปเจอกับงานเทศกาลบางอย่าง (ที่เราเดาว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา) ซึ่งทำให้ผู้คนออกมาเดินเล่น ขายของ ไปจนถึงขึ้นรถแห่กันเต็มถนน 2 เลน จากที่วางแผนว่าจะมาถึง Preet Nagar ประมาณ 5 โมงเย็น เพื่อเดินเล่นชมหมู่บ้านแบบชิลล์ๆ ปรากฏว่า 2 ทุ่มยังติดอยู่บนถนนกันอยู่เลย

กว่าจะถึงท่ารถแล้วเรียกแท็กซี่จากในตัวเมืองผ่านความคึกคักยามราตรีของ Amaritsar ไปจนเจอทุ่งนาและความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นริมชายแดนที่ไม่มีแม้แต่ไฟถนน น่าจะประมาณ 4 ทุ่มพอดีที่เราได้เห็นหน้าซาเมีย วันนี้ของเราจึงไม่มีอะไรมากนอกจากการเก็บของแล้วเตรียมตัวพักผ่อน

ห้องนอนของเราตลอด 2 คืนนี้เป็นห้องหนึ่งในบ้านของซาเมียเหมือนที่เหล่า Artist in Residence ได้ใช้พักอาศัยกันตลอด 1 เดือน ห้องขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่แต่ตกแต่งด้วยไฟและงานคราฟต์น่ารักๆ แถมยังมีหนังสือดีๆ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฮินดีให้เลือกอ่านเต็มตู้ เอาจริงๆ ได้แค่นอนอ่านหนังสือพวกนี้ก็คุ้มแล้วนะได้มา

ดินแดนกลางทุ่งนาริมชายแดนอินเดีย-ปากีฯ

‘Preet Nagar’ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลางทุ่งนา ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยนอกจากข้าวแล้ว ก็มีธัญพืช ผักชนิดต่างๆ และสมุนไพรที่ชาวบ้านทั้งปลูกขายเป็นอาชีพและใช้ทำอาหารกินกันในครัวเรือน หมู่บ้าน Preet Nagar ตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาบ ใกล้กับชายแดนเมือง Amaritsar ประเทศอินเดียและเมือง Lohore ประเทศปากีสถาน ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยจากข่าวที่สองประเทศโจมตีกันอย่างดุเดือดมาตลอดหลายปี ดังนั้นก่อนจะไปรู้จักกับหมู่บ้านและงานเทศกาลที่กำลังจะเกิดขึ้น เราอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจข้อพิพาทนี้กันคร่าวๆ ซะก่อน และถ้าอยากจะเข้าใจข้อพิพาทนี้จริงๆ เราก็คงต้องย้อนกลับไปถึง 73 ปี หรือในปี 1947 นู้นเลย เพราะสาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศนี้ก็คือ ‘การแบ่งแยกดินแดน’

ก่อนปี 1947 ในวันที่ยังไม่มีประเทศอินเดียและปากีสถาน พื้นที่แถบนี้ถูกเรียกรวมกันว่า ‘อนุทวีปอินเดีย’ (Indian subcontinent) จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคมและมอบเอกราชให้กับทั้งสองประเทศ คือ ประทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถานตะวันตก – ปากีสถานตะวันออก โดยแบ่งเส้นเขตแดนตาม ‘ศาสนา’ ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ คือถ้าพื้นที่ไหนมีคนที่นับถือศาสนาฮินดูเยอะกว่า ก็จะถือเป็นเขตแดนของประเทศอินเดีย และถ้าพื้นที่ไหนมีคนนับถือศาสนาอิสลามมากกว่า ก็จะถือว่าเป็นเขตแดนของประเทศปากีสถาน

การแบ่งเขตแดนอย่างง่ายๆ ที่ใช้เวลาคิดเพียงแค่ 5 สัปดาห์ของอังกฤษ ส่งผลให้เส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศมีรูปร่างบิดๆ เบี้ยวๆ เหมือนข้าวสารที่โดนมอดแทะ แถมยังส่งผลได้เกิดการพลัดพรากของครอบครัว ตามมาด้วยการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนหลายล้านคน รวมถึงการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธอิงศาสนา ที่หลายคนให้ความเห็นว่ารุนแรงยิ่งกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวของเยอรมันในสมัย WWII ซะอีก

โดยนอกจากนี้ยังมีแคว้นที่มีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของพื้นที่อย่าง ‘แคชเมียร์’ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่อังกฤษไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นดินแดนของประเทศไหน จนเกิดการสู้รบเพื่อแย่งชิงดินแดนกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยสิ่งที่ทำให้แคชเมียร์ไม่เหมือนที่ไหนๆ ก็คือการที่แคชเมียร์เป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าศาสนาฮินดู แต่กลับมีผู้ปกครองที่เป็นชาวฮินดู อย่าง ‘มหาราชา ฮารี ซิงห์’ ซึ่งตัดสินใจว่าจะไม่ขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและตัดสินใจลงนามเข้าร่วมกับฝั่งอินเดียในที่สุดเมื่อสถานการณ์บีบบังคับ

แน่นอนว่าปากีสถานย่อมไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบสุดๆ เพราะตามข้อกำหนดของอังกฤษ แคชเมียร์ควรต้องตกเป็นของปากีสถานตามจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีมากกว่า ทั้งสองประเทศจึงส่งกองกำลังเข้ามาแย่งกันยึดพื้นที่ในแคชเมียร์จนเกิดเป็นสงครามและการต่อสู้กันมาตลอด

จากการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนมากมาย หมู่บ้าน Preet Nagar ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชายแดน จึงกลายมาเป็นพื้นที่ทางผ่านและที่พึ่งพิงสำหรับชาวอิสลามที่ต้องการอพยพข้ามแดนไปอยู่กับครอบครัวที่ฝั่งปากีสถานโดยไม่มีการแบ่งแยกศาสนา โดยนอกจากหลายๆ บ้านจะแบ่งห้องว่างที่มีให้ผู้อพยพเข้ามาพักอาศัยชั่วคราวก่อนเดินทางแล้ว ยังมีการสร้าง Community Kitchen หรือห้องครัวชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันรวบรวมวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งแต่ละครอบครัวปลูกเอง มาช่วยกันทำอาหารและแบ่งปันให้กับทั้งคนในชุมชนและผู้อพยพได้ทานด้วยกัน จนเกิดเป็นทั้งบทสนทนาใหม่ๆ และการแลกเปลี่ยนความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่พิเศษและหาไม่ได้จากที่ไหน

Preet Nagar ที่เราได้มารู้จักในวันนี้ จึงไม่ใช่หมู่บ้านริมเขตแดนข้อพิพาทที่น่ากลัวหรืออันตรายจนขยับตัวไม่ได้ แต่ความเข้มแข็งและความเข้าใจทำให้ที่นี่กลายเป็นหมู่บ้านที่อบอุ่นไปด้วยความรักซึ่งเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติและศาสนาไหน มอบให้กันและกันสมชื่อดินแดนแห่งความรักจริงๆ

จาก Artist Residency สู่ Mela เทศกาลศิลปะที่มีผู้ชมหลักเป็นชาวชุมชน

จากตำนานหลายหน้ากระดาษที่อัดแน่นอยู่ในหมู่บ้าน ‘รัตติกา’ และ ‘ซาเมีย’ สองศิลปินสาวพี่น้องที่เกิดและโตมาใน Preet Nagar ตัดสินใจนำสิ่งที่ตัวเองถนัดอย่าง ‘ศิลปะ’ เข้ามาเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ออกไปสู่คนภายนอก และทำให้คนในชุมชนได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นนั้นมีคุณค่าขนาดไหน

รัตติกาเล่าว่า ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นงาน Mela ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2019 และ 2020 Preet Nagar เปิดเป็น Residency ที่ต้อนรับศิลปินในแขนงต่างๆ ให้ได้มาพักพิงและสร้างงานศิลปะนานกว่า 7 ปีแล้ว โดย Residency ครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยที่รัตติกายังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย (ตอนนั้นเธอเรียนถ่ายภาพ ปัจจุบันเป็นช่างภาพ)

“ในวิชาที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดเรื่องราวชุมชน อาจารย์ให้ทุกคนเลือกสถานที่มาเป็น subject ในการทำงาน ฉันเลยนึกถึงหมู่บ้านของเรา เพราะมันเป็นที่ๆ ดีมากๆ และฉันก็อยากจะกลับมาเริ่มต้นสำรวจในพื้นที่รอบบ้านของตัวเองด้วย Residency ครั้งแรกเลยเกิดขึ้นในวิชานั้นโดยมีศิลปินเป็นอาจารย์ของฉันกับเพื่อนนักเรียนอีก 16 คน และยิ่งทำไปฉันก็ยิ่งพบว่า ที่นี่ไม่ได้แค่มีเรื่องราวให้เล่าเยอะแยะ มีการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ดีและมีทุกคนในหมู่บ้านที่น่ารักและเปิดใจเท่านั้น แต่ทุกอย่างมันเหมาะเจาะเหมือนกับว่าจริงๆ แล้วที่นี่เองก็กำลังรอให้มีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับมัน หลังงานจบครั้งนั้นฉันจึงตัดสินใจว่ายังไงก็อยากให้เรามีกิจกรรมนี้เกิดขึ้นต่อไป”

งานศิลปะใต้ต้นไม้ใหญ่

งานชิ้นต่อไปมาจาก อายูชาร์ (Ayushya George) ศิลปินหนุ่มจากอินเดียที่สร้างงานทิ้งให้ Preet Nagar ไว้หลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ภาพวาด’ ‘เตาอบดิน’ และ ‘ชิงช้า’ สามสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย แต่กลับเชื่อมโยงกันมากกว่าที่คิด เพราะสิ่งที่อายูชาร์หยิบขึ้นมาสื่อสารในงานก็คือ ‘ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับเรา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพบว่ามันอบอวลอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้
ภาพวาดนั้นเป็นภาพวาดสีหมึกและสีน้ำ ที่ถูกขยายถึงจากภาพในสมุดเสก็ตของตัวเขาเอง ซึ่งวาดขึ้นในขณะที่กำลังสัมผัสและรู้สึกถึงธรรมชาติของที่นี่ ในขณะที่ชิงช้าก็ถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้เศษไม้ที่เหลืออยู่ในสวนพร้อมกับเชือกซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนใช้งานกันอยู่ทุกวันสร้างขึ้นมาใต้ต้นไม้ใหญ่

ส่วนเตาอบดิน หรือ เตา tandoor อายูชาร์ก็เป็นคนประกอบขึ้นและเพ้นท์ลวดลายเองกับมือโดยใช้ดินและน้ำใต้พื้นดินของ Preet Nagar สร้างขึ้น โดยในงาน Mela ทั้งสองวัน พี่ๆ แม่บ้านก็จะใช้เตาทำมือเตานี้แหละอบแป้งจาปาตี ทำอาหารทุกมื้อให้พวกเรารวมทั้งแขกที่มาเที่ยวงานได้กินกัน!

“ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ลื่นไหลและคาดเดาไม่ได้ ความรู้สึกของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปเวลาเห็น
ก็เหมือนสถานที่นี้ที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเจออะไร อย่างเช้านี้ที่หมอกลงจัด แต่ตอนนี้ก็แดดออก ผมจึงอยากทำงานศิลปะที่สร้างขึ้นจากธรรมชาติและเป็นหนึ่งเดียวกับที่นี่จนหลายคนที่มองเห็นก็คาดเคาไม่ได้ว่ามันคืองานศิลปะ และมีความรู้สึกที่แต่แตกต่างกันออกไปเมื่อได้มองมัน”

Happy Mela!

และแล้วเช้าของวันงานก็มาถึง!

เช้านี้เราตื่นขึ้นมาเพื่อพบว่ารอบบ้านพักของเราเต็มไปด้วยหมอก หมอก แล้วก็หมอก! สำหรับมนุษย์ที่เคยเจอหมอกแค่เวลาอยู่บนยอดดอยอย่างเรา การตื่นมาถูกล้อมด้วยหมอกที่ครึ้มจนมองเห็นรอบตัวได้แค่ในระยะไม่เกิน 200 เมตร เป็นอะไรที่ช็อคมาก ยิ่งแถมด้วยอากาศที่หนาวจนต้องวิ่งกลับเข้ามาใส่กางเกงยีนส์ซ้อนเข้าไปเป็นตัวที่สองก็ยิ่งทำเอาไม่อยากจะขยับตัวออกไปไหนนอกห้องอุ่นๆ ที่มีฮีตเตอร์

แต่เมื่อเช้าวันนี้คือวันที่ Mela ซึ่งทุกคนเตรียมตัวมานานกำลังจะเริ่มต้นขึ้น จะปล่อยให้พี่ๆ ศิลปินและเหล่าทีมงานตื่นเช้าออกไปเตรียมงานกันอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ เราจึงตามออกไปสังเกตการณ์ด้วยคน

ท่ามกลางหมอกหนา ทุกคนกำลังเตรียมงานช่วงโค้งสุดท้ายอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นคุณศิลปินที่กำลังเตรียมจัดแสดงศิลปะให้ดีที่สุด, ทีมจัดพื้นที่ที่กำลังช่วยชาวชุมชนซึ่งมาออกร้านเตรียมข้าวของให้พร้อม, แก๊งคุณลุงคุณป้าพ่อครัวแม่ครัวที่เริ่มก่อไฟหั่นผักเพื่อเตรียมอาหารกลางวันมื้อใหญ่จากผักในสวนรอต้อนรับผู้มาชมงาน รวมไปถึงทุกคนที่ช่วยกันวิ่งหากิ่งไม้จากในสวนมาใช้ห้อยป้ายชื่องาน ซึ่งซาเมียส่งไปพิมพ์ลงบนผ้านุ่มๆ ด้วยฝีมือของพี่ๆ ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง

โดยนอกจากบรรดางานศิลปะที่เหล่า Artist in Residence ทำขึ้นแล้ว ภายในงานยังมีทั้งงานออกร้านของ
ชาวบ้านเจนใหม่ 2 คนสุดท้ายที่ยังคงทำเครื่องทองเหลืองทำมือ, ร้านหนังสือของทันตแพทย์ผู้เปิดร้านขายหนังสือภาษาฮินดีและปัญจาบิที่อยากนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่หาอ่านไม่ค่อยได้ในอินเดีย เช่น การเมือง สังคม ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ จิตวิทยา ฯลฯ เข้ามาให้คนหาอ่านได้ง่ายขึ้น ฯลฯ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกมหัศจรรย์มากๆ กับงานนี้อีกอย่างก็คือ เผลอแป๊ปเดียว หมอกจัดๆ ที่หนาจนเดาไม่ถูกว่างานจะจัดออกมาได้ในรูปแบบไหน ก็ค่อยๆ จางลง แล้วปล่อยให้แสงอาทิตย์และท้องฟ้าสีฟ้าสดใสออกมาทักทายผู้คน พอดิบพอดีกับที่เด็กๆ จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมไปถึงชาวชุมชนและผู้ร่วมงานทยอยกันเดินทางมาถึง

ว่าแล้วเราก็ตาม ‘หม่าม๊าปูนัม’ คุณแม่ของซาเมียและรัตติกา (Punam Singh) ที่กำลังจะเริ่ม Art Walk พาผู้ร่วมงานไปเดินชมงานศิลปะและพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างงานแต่ละชิ้นของศิลปินไปด้วยกันเลยดีกว่า

พี่ทันตแพทย์ผู้เปิดร้านขายหนังสือภาษาฮินดีและปัญจาบิหายาก

งานศิลปะใต้ต้นไม้ใหญ่

งานชิ้นต่อไปมาจาก อายูชาร์ (Ayushya George) ศิลปินหนุ่มจากอินเดียที่สร้างงานทิ้งให้ Preet Nagar ไว้หลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ภาพวาด’ ‘เตาอบดิน’ และ ‘ชิงช้า’ สามสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย แต่กลับเชื่อมโยงกันมากกว่าที่คิด เพราะสิ่งที่อายูชาร์หยิบขึ้นมาสื่อสารในงานก็คือ ‘ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับเรา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพบว่ามันอบอวลอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้
ภาพวาดนั้นเป็นภาพวาดสีหมึกและสีน้ำ ที่ถูกขยายถึงจากภาพในสมุดเสก็ตของตัวเขาเอง ซึ่งวาดขึ้นในขณะที่กำลังสัมผัสและรู้สึกถึงธรรมชาติของที่นี่ ในขณะที่ชิงช้าก็ถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้เศษไม้ที่เหลืออยู่ในสวนพร้อมกับเชือกซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนใช้งานกันอยู่ทุกวันสร้างขึ้นมาใต้ต้นไม้ใหญ่

ส่วนเตาอบดิน หรือ เตา tandoor อายูชาร์ก็เป็นคนประกอบขึ้นและเพ้นท์ลวดลายเองกับมือโดยใช้ดินและน้ำใต้พื้นดินของ Preet Nagar สร้างขึ้น โดยในงาน Mela ทั้งสองวัน พี่ๆ แม่บ้านก็จะใช้เตาทำมือเตานี้แหละอบแป้งจาปาตี ทำอาหารทุกมื้อให้พวกเรารวมทั้งแขกที่มาเที่ยวงานได้กินกัน!

“ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ลื่นไหลและคาดเดาไม่ได้ ความรู้สึกของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปเวลาเห็น
ก็เหมือนสถานที่นี้ที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเจออะไร อย่างเช้านี้ที่หมอกลงจัด แต่ตอนนี้ก็แดดออก ผมจึงอยากทำงานศิลปะที่สร้างขึ้นจากธรรมชาติและเป็นหนึ่งเดียวกับที่นี่จนหลายคนที่มองเห็นก็คาดเคาไม่ได้ว่ามันคืองานศิลปะ และมีความรู้สึกที่แต่แตกต่างกันออกไปเมื่อได้มองมัน”

ส่วนเตาดิน หรือ เตา tandoor อายูชาร์ก็เป็นคนประกอบขึ้นและเพ้นท์ลวดลายเองกับมือโดยใช้ดินและน้ำใต้พื้นดินของ Preet Nagar สร้างขึ้น โดยในงาน Mela ทั้งสองวัน พี่ๆ แม่บ้านก็จะใช้เตาทำมือเตานี้แหละอบแป้งจาปาตี ทำอาหารทุกมื้อให้พวกเรารวมทั้งแขกที่มาเที่ยวงานได้กินกัน!

งานชิ้นต่อไปเป็นงานเราจะขยับจากเข้ามาตึกปูนด้านในกันบ้าง โดยงานชิ้นนี้เป็นงาน applique หรือศิลปะแปะติดผ้าจาก วิลม่า (Vilma Bader) ศิลปินสาวที่ทำงานกับผ้าจากออสเตรเลีย โดยสิ่งที่วิลม่าเลือกหยิบมาใช้ในการสื่อสารก็คือ ‘ภาษาและความรัก’

ซึ่งนอกจากจะมาจากชื่อของหมู่บ้าน Preet Nagar ที่มีความหมายว่า ‘ดินแดนแห่งความรัก’ แล้ว เธอยังได้แรงบันดาลใจมาจากคาแรคเตอร์ของหม่าม๊าปูนัม คุณแม่ของซาเมียและรัตติกา ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสาร Preet Lari หรือนิตยสารที่บอกเล่าเรื่องราวและวิถิชีวิตที่เกิดขึ้นภายในแคว้นปัญจาบผ่านทั้งนวนิยาย ร้อยแก้ว บทกวี และบทวิเคราะห์ ในมุมมองที่เปิดกว้างทางเชื้อชาติ วรรณะ เพศ และศาสนา ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างพลเมืองและสังคมปัญจาบที่ตระหนักรู้และเปิดกว้างถึงความเท่าเทียมและแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ท่ามกลางความเข้มข้นของการแบ่งแยกดินแดน สงครามและการก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 1933

วิลม่าจึงหยิบภาษาและบทกวีซึ่งเป็นสิ่งที่มีพลังมากมาย แต่กำลังค่อยๆ ตายไปจากโลกทีละนิด โดยเฉพาะภาษาพื้นเมืองจากชนเผ่าเล็กๆ มาผสมผสานกับเศษผ้าจากชุมชน เพื่อสื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับความรัก การต่อสู้ และความแข็งแกร่งที่หม่าม๊าปูนัมและ Preet Nagar มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม โดยวิลม่าเล่าว่า

“ฉันอยากสื่อสารความรักที่ได้รับจากที่นี่ เพราะช่วงเวลาที่ได้อยู่ที่นี่ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ทีมงาน คุณป้าที่ชงชา คุณลุงที่ทำอาหาร ทุกคนที่มาแสดงโชว์ ทุกคนรักในงานที่ทำ และฉันดีใจที่ได้เห็นความรักของทุกคนแสดงออกมาพร้อมๆ กัน

โดยสิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจที่สุดในวันงานก็คือตอนที่มีนักเรียนเคมีสาวสองคนจาก Amaritsar ได้เข้ามาดูงานของฉันและเล่าให้ฉันฟังว่า จริงๆ วันนี้ (วันที่จัดงาน) มีกวีชาวอินเดียคนนึงได้เสียชีวิตลง และสิ่งนี้รวมถึงงานของฉันได้ทำให้พวกเธอตระหนักถึงพลังของงานศิลปะและบทกวีที่มันไม่มีวันตาย”

Cancer Express

คราวนี้เราไปชมภาพยนตร์กันบ้าง กับงานศิลปะจากคินชุก (Kinshuk Surjan) Film maker หนุ่มชาวอินเดียที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่เบลเยียม หนังสั้นเรื่องนี้พูดถึง ‘การเดินทางบนรถไฟสายมะเร็ง’ ซึ่งบันทึกอีกหนึ่งแง่มุมที่เกิดขึ้นปัญจาบเอาไว้และชวนให้ผู้คนตั้งคำถามต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยแรงบันดาลใจก็ไม่ได้มาจากไหนไกล แต่มาจากป้าที่เป็นมะเร็งของเขานั่นเอง

อย่างที่บอกว่าปัญจาบเป็นแคว้นเกษตรกรรมที่สำคัญของอินเดีย แต่อินเดียยังเป็นประเทศที่ใช้ยาฆ่าแมลงอยู่มาก เมื่อเกษตรกรรวมถึงคนทั่วไปปลูกพืชและกินอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงมากๆ เข้า คนที่ป่วยเป็นมะเร็งจึงมีจำนวนเยอะตามไปด้วย ‘รถไฟสายมะเร็ง’ จึงไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เกิดขึ้นจากการที่ ขบวนไฟขบวนนี้วิ่งอยู่บนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสู่โรงพยาบาลราคาถูกในแคว้นปัญจาบที่ผู้ป่วยและญาติที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำเป็นต้องใช้ไปบริการโดยไม่มีทางเลือก เมื่อคนป่วยโรคมะเร็งขึ้นรถไฟขบวนนี้กันมากมาย คนจึงเรียกมันว่า Cancer Express กันจนเคยชินที่สุด

โดยคินชุกเล่าว่า เขาทำงานโดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า ถ้าเขาจะเป็นคนหนึ่งในรถไฟขบวนนั้นเขาควรจะเป็นใคร และสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจว่าเขาอยากอยู่ในมุมมองของคนนอกที่สุดที่มองเข้าไป เขาจึงเลือกตามนายสถานีคนหนึ่งที่มีหน้าที่เดินทางไปกับรถไฟขบวนนี้ตั้งแต่ต้นทาง คอยตรวจตั๋ว รักษากฏและรักษาความเรียบร้อยให้กับขบวนรถไฟ ซึ่งพอตามไปถ่ายทำจริงๆ เขาก็ได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจมากคือการชั่งน้ำหนักระหว่างหน้าที่และมนุษยธรรมของนายสถานี การชั่งน้ำหนักระหว่างการรักษากฏและการช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย

“ถ้ามีใครต้องการยาหรือต้องการความช่วยเหลือ เขาควรจะทำตัวยังไง ถ้าบางคนไม่มีแม้กระทั่งตั๋วแต่กำลังจะตายอยู่ตรงหน้า เค้าควรจะทำตัวยังไง นั่นคือสิ่งผมสนใจมาก และหลังจากนี้ก็อยากจะขยายงานชิ้นต่อไปในมุมมองสายตาของคนอื่นๆ บนขบวนรถไฟ เช่น ผู้ป่วยและญาติที่จำเป็นต้องใช้บริการรถไฟขบวนนี้ เพื่อสำรวจเรื่องราวให้ครบทุกแง่มุมด้วย”
อีกสิ่งที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับภาพยนตร์ Cancer Express ก็คือการแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างเข้มข้นที่เกิดขึ้นหลังการชมภาพยนตร์ เพราะผู้ชมส่วนหนึ่งที่ร่วมชมภาพยนตร์พร้อมกับเราในวันนั้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็สมเหตุสมผลดีอยู่แล้ว เพราะเกษตรกรเป็นผู้เลือกที่จะใช้ยาฆ่าแมลงด้วยตัวเอง ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่อันตราย จึงไม่แปลกที่จะต้องยอมรับผลที่ตามมาจากการกระทำของตัวเอง

ในที่อีกกลุ่มรู้สึกว่า การไปโทษว่าเป็นความผิดของเกษตรกรฝ่ายเดียวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเกษตรนั้นไม่ได้เลือกใช้ยาฆ่าแมลงเพราะอยากใช้ แต่ประเทศและนโยบายต่างๆ ของรัฐต่างหากที่ฝังรากมานานต่างหากที่ทำให้เขาจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐไม่เคยมีกฏหมายที่งดเว้นการใช้งานยาฆ่าแมลง แต่กลับยังคงกดดันให้ชาวบ้านต้องสร้างผลิตจำนวนมากเกินกำลังออกมาสู่ตลาดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และการใช้สารเคมีเหล่านี้ก็การันตีว่าผลผลิตที่ปลูกจะสามารถส่งขายและกลายเป็นรายได้ได้ทั้งหมด

คินชุก (Kinshuk Surjan)

Religion / Identity / Nationality / Humanity

งานชิ้นสุดท้ายเป็นงานภาพถ่ายของทูลจอย (Turjoy Chowdhury) ช่างภาพเชิงสารคดีจาก National Geographic ชาวบังคลาเทศ ที่เราอดยอมรับไม่ได้ว่าเป็นงานที่ทรงพลังอย่างที่สุดและทำให้เราประทับใจมากจริงๆ โดยงานของทูลจอยเป็นชุดภาพถ่ายภายใต้คอนเซ็ปของ ‘Border’ ซึ่งหมายถึงทั้งเส้นแบ่งเขตแดนอินเดีย-ปากีสถาน ที่ตั้งอยู่ห่างจากเราไปไม่ไกล และการแบ่งแยกด้วยปัจจัยทางสังคมที่เราสร้างขึ้นเองจนทำให้เกิดเส้นแบ่งที่แยกมนุษย์ออกจากกันอย่างน่าเศร้า ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นชุดภาพถ่าย 4 ชุดย่อยๆ

ภาพชุดแรกพูดถึงเรื่องราวของ ‘สุมิตร ซิงค์’ (Sumeet signh) เป็นนักเขียนและบรรณาธิการหนุ่มอนาคตไกล หนึ่งในสมาชิกครอบครัวซิงค์ ผู้เป็นน้องชายของรัตติกาล ซิงค์ คุณพ่อของซาเมียและรัตติกา ซึ่งเคยเป็นคนรักของหม่าม๊าปูนัม ก่อนที่จะมาแต่งงานกับคุณพ่อ

สุมิตร ซิงค์ถูกยิงตายด้วยกระสุน 5 นัด ในปี 1984 เพียงเพราะเขาตัดสินใจทำผมผิดหลักศาสนาซิกซ์ ซึ่งปกติจะต้องไว้ผมและเครายาว แต่สุมิตรกลับเลือกตัดผมและเคราสั้นสะอาดเรียบร้อย ชุดภาพถ่ายนั้นก็มีทั้งการจำลองช่วงเวลาที่ปาป๊ารัตติกาลและคุณสุมิตรขับรถมอเตอร์ไซค์ซ้อนออกไปด้วยกันในวันที่เกิดเหตุ และการรวบรวมเอกสารต่างๆ ทั้งข้าวของส่วนตัวอย่างจดหมาย โปสการ์ด ภาพถ่าย เสื้อผ้า หรือเนื้อหาบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่ทำให้ผู้ชมเสมือนได้ย้อนเวลากลับไปในวันที่เรื่องราวน่าเศร้านี้เกิดขึ้นอีกครั้ง

“ผมรู้สึกมหัศจรรย์ใจกับมรดกของครอบครัวนี้มากนะ พวกเขาเป็นครอบครัวที่รวมคนเจ๋งๆ เอาไว้เยอะมากจริงๆ คนอย่าง สุมิตร ปาป๊า หม่าม๊า ซาเมีย รัตติกาและทุกคนๆ ที่นี่มหัศจรรย์มาก เรื่องราวที่ผมหยิบมาทำงานมันอาจจะดูเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ ของครอบครัวนี้ แต่จริงๆ มันเกี่ยวข้องกับชุมชน สังคม การเมือง ศาสนา และความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน เรื่องของสุมิตรสอนให้ผมรู้ว่าศาสนาไม่ควรถูกตัดสินเพียงแค่ด้วยเชื้อชาติหรือรูปร่างหน้าตา แต่ควรมาจากตัวตน การตัดสินใจ และความเป็นมนุษย์ของคนๆ นั้น

และมันเกียรติสำหรับผมในฐานะช่างภาพจริงๆ ที่ทุกคนในครอบยอมตอบคำถามส่วนตัวๆ พวกนั้นทั้งหมดอย่างเปิดใจ ทั้งที่มันเป็นเรื่องราวอ่อนไหวที่ทุกคนกลบทับมันไว้ใต้หลากหลายความทรงจำมาตั้ง 35 ปี และเชื่อมั่นในตัวผม จนงานนี้สามารถเกิดขึ้นมาได้ สิ่งที่เป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ ไม่ใช่แค่ในฐานะศิลปินที่ได้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ แต่ในฐานะของมนุษย์คนนึงเลย”

ทูลจอย (Turjoy Chowdhury)

ภาพชุดที่สอง เป็นภาพของห้องต่างๆ ในหมู่บ้านที่ชาว Preet Nagar เคยยกให้เป็นที่พักพิงชั่วคราวของชาวมุสลิมที่พยายามจะข้ามชายแดนจากอินเดียไปยังปากีสถาน เพื่อให้สามารถเตรียมตัวข้ามชายแดนที่อันตรายและลำบากได้ด้วยความปลอดภัย

ภาพชุดที่สาม เป็นภาพ Portrait และภาพของสิ่งของที่บรรจุความทรงจำของพวกเขา ถึงคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว ที่ยังคงติดอยู่ในปากีสถานและไม่สามารถข้ามดินแดนมาพบกันได้ จึงมีเพียงของต่างหน้าอย่าง เสื้อผ้าที่เคยมอบให้กัน รองเท้าที่เคยใส่ หรือตั๋วรถไฟที่เชื่อมให้พวกเขาสามารถเคยเดินทางไปถึงกันได้ในอดีต เท่านั้นที่ยังคงทำให้พวกเขาไม่ลืมวันเวลาที่เส้นเขตแดนนี้ไม่ได้แยกทุกคนออกจากกัน

และภาพชุดสุดท้าย ซึ่งเป็นงานที่เรารักมากๆ พูดถึงการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างอินเดียและปากีสถานของอังกฤษเอาไว้อย่างเรียบง่ายและทรงพลัง โดยภาพที่ทูลจอยเลือกมานำเสนอเป็นภาพของแบ่งเส้นเขตแดนในสองรูปแบบคือแผนที่ภูมิศาสตร์ที่มองเห็นเป็นไร่นา แม่น้ำ บ้านเรือน ภูเขาและป่าที่อุดมสมบูรณ์ และภาพอีกชุดที่เป็นภาพกราฟิกซึ่งทำขึ้นเพื่อบอกว่า เส้นเขตแดนจริงๆ ที่แบ่งแยกทั้งสองประเทศออกจากกันอยู่ตรงไหน

ในตอนที่เรากำลังยืนดูงานชิ้นนี้อย่างงงงวยและไม่เข้าใจว่ามันสื่ออะไร ทูลจอยขี้ไปที่ภาพฝั่งแผนที่ภูมิศาสตร์แล้วถามเราว่า “คุณเดาได้ไหมว่าตรงไหนคือเส้นชายแดนในรูปนี้?” แน่นอนว่าเราพยายามจะตอบ แต่คำตอบของเราไม่เคยถูกต้อง

“คุณจินตนาการไม่ถูกหรอกว่าเส้นชายแดนอยู่ตรงไหนในภาพเหล่านี้ เพราะมันถูกแบ่งด้วยตรรกะที่มนุษย์คิดขึ้นเองอย่างชาติ ศาสนา และความเชื่อ ซึ่งทำให้สิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นหนึ่งเดียวถูกแยกออกจากกัน เราขั้นกลางแม่น้ำสวยๆ เทือกเขาที่ทิ้งตัวเป็นแนวขนาน ไร่นาที่วางตัวเป็นบล็อกอย่างมีระเบียบ และโดยเฉพาะวิถีชีวิตของครอบครัวและผู้คน ด้วยเส้นเขตแดนที่เว้าแหว่งเหมือนโดนมอดแทะแบบนั้นลงไปได้ยังไง ผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ”

หลังจากที่ทูลจอยเฉลยให้ฟัง การดูงานชิ้นนี้ก็ทำให้เราสนุกสนานเหมือนได้เล่นเกมส์จับคู่ภาพปริศน แต่ยิ่งดูละเอียดขึ้นเท่าไหร่ เมื่อความสนุกผ่านพ้นไป เรากลับยิ่งค้นพบปัญหาที่จริงจังซึ่งซ่อนอยู่ในภาพของเส้นเขตแดนเหล่านี้อย่างน่าอัศจรรย์ จนพูดได้เต็มปากว่างานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานที่เราชอบที่สุดที่ได้ชมในครั้งนี้เลยทีเดียว

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Photographer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

Next read