close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Ratchadamnoen Avenue สถาปัตยกรรมกับความทรงจำแห่งถนนราชดำเนิน

Trawell
Contact search
See Well 5.2k

Ratchadamnoen Avenue
สถาปัตยกรรมกับความทรงจำ
แห่งถนนราชดำเนิน

22 September 2020 เรื่อง แทนไท นามเสน ภาพ แทนไท นามเสน

“การปรับภูมิทัศน์สถาปัตยกรรมตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลาง โดยปราศจากการพิจารณาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงพลวัตทางสถาปัตยกรรม แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ เพื่อ ‘ลบ’ เรื่องราวของคนบางกลุ่มที่ไม่เป็นที่นิยมของรัฐ ออกไปจากความทรงจำของผู้คน ราวกับว่าเรื่องราวของพวกเขาไม่เคยเกิดขึ้นเลย”

สถาปัตยกรรม คือสิ่งปลูกสร้างทางศิลปะที่ไม่เพียงสะท้อนความคิดของสถาปนิก หรือชี้ให้เห็นประโยชน์ของหน้าที่การใช้งานเท่านั้น แต่สถาปัตยกรรมยังสะท้อนถึงความคิดและพลวัตของสังคมตั้งแต่อิฐทุกก้อนไปจนถึงเสาทุกต้น อีกทั้งสถานะถาวรวัตถุของมันเองยังเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ และเน้นย้ำการมีตัวตนของผู้มีอำนาจด้วยอายุอันยาวนานและความมั่นคงของมัน ว่าครั้งหนึ่งสังคมของเราเคยรุ่งโรจน์หรือร่วงโรยอย่างไร สถาปัตยกรรรมจึงเปรียบเสมือนภาชนะบรรจุประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับตำราและศิลาจารึก เปรียบเสมือนเครื่องมือช่วงชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจ และเปรียบเสมือนบันทึกแห่งการบอกเล่าบ้านเมืองของเรา

ตึกแถวริมถนนราชดำเนิน คือกลุ่มอาคารที่เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์และศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในฐานะงานสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture) ยุคแรกๆของประเทศ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันมากว่า 80 ปี ตั้งแต่ยุคย่านเกาะรัตนโกสินทร์ยังเป็นศูนย์กลางความเจริญของกรุงเทพมหานคร รวมถึงยังผ่านร้อนผ่านหนาวท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย

เมื่อโครงการปรับภูมิทัศน์โดยรอบถนนราชดำเนิน ที่กำลังจะเปลี่ยนหมู่ตึกแถวราชดำเนินจากสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco ไปเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Neo-Classic กำลังจะเกิดขึ้น Trawell จึงไม่พลาดที่จะตามไปสำรวจและบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับถนนราชดำเนินแห่งนี้เอาไว้ และถือโอกาสนำเรื่องราวและที่มาที่ไปของพื้นที่และสถาปัตยกรรมชุดนี้มาบอกเล่าให้ทุกคนได้ฟัง

ถนนราชดำเนิน เป็นถนนที่ตัดขึ้นบริเวณใจกลางของเกาะรัตนโกสินทร์ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 1200 เมตร โดยแบ่งถนนออกเป็นสามสายด้วยกัน คือ ถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินใน โดยมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณพระบรมมหาราชวังจนถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2442 เพื่อใช้สำหรับพระราชดำเนินเชื่อมต่อระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต อีกทั้งยังทรงให้เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยของสยามต่อสายตาของเจ้าอาณานิคมในยุคที่อุษาคเนย์ตกอยู่ในความเสี่ยงของการล่าอาณานิคม
ถนนราชดำเนินใน (สีแดง) เริ่มจากถนนหน้าพระลาน ตัดเลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่สะพานผ่านพิภพลีลา

ถนนราชดำเนินกลาง (สีเทา) เริ่มจากสะพานผ่านพิภพลีลาไปทางทิศตะวันออก ตัดกับถนนตะนาว (แยกคอกวัว) ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ป้อมมหากาฬ ก่อนที่จะสิ้นสุดที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ถนนราชดำเนินนอก (สีน้ำเงิน) เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะตัดกับถนนวิสุทธิกษัตริย์ (แยก จ.ป.ร.) ถนนกรุงเกษม (แยกมัฆวาน) ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ตัดกับถนนพิษณุโลก (แยกมิสกวัน) ก่อนจะไปตัดกับถนนศรีอยุธยา (แยกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า) ด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของถนนสายนี้

การสร้างถนนราชดำเนิน มาพร้อมกับแนวคิด City Beautification ที่ว่าด้วยการสร้างเมืองที่ประกอบด้วยภูมิทัศน์อันงดงามและเป็นระเบียบ ส่งผลให้การขยายเมืองของกรุงเทพในยุคนั้นเริ่มมีการจัดระเบียบถนนหนทางขึ้น พร้อมๆกับความสำคัญของถนนที่เข้ามาแทนที่คูคลอง ถนนราชดำเนินจึงเปรียบเสมือนหมุดหมายสำคัญแห่งการก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ของสยามเพื่อให้ทัดเทียมอารยประเทศ โดยมีแรงบันดาลใจสำคัญจากถนนช็องเซลีเซ (Avenue des Champs-Elysees) แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กระทั่งประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนการปกครองในครั้งนี้เริ่มเข้าสู่บทบาททางการเมือง ได้ริเริ่มโครงการสร้าง “ความทรงจำ” ใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองของประเทศ ผ่านถาวรวัตถุจำนวนมาก ซึ่งถนนราชดำเนินเองก็เป็นพื้นที่หนึ่งถูกใช้เพื่อสร้างความทรงจำชุดนี้ด้วย

โดยที่ผู้คนทั่วไปคุ้นเคยที่สุด คงหนีไม่พ้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 อนุสาวรีย์ทีแปร “นามธรรม” ของประชาธิปไตยออกมาเป็น “รูปธรรม” ด้วยสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ พร้อมสอดแทรกสัญญะของคณะราษฎรประกอบเข้าอย่างแนบเนียน และยังยืนเด่นเป็นประจักษ์พยานควบคู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศมาอย่างยาวนานจนปัจจุบัน

เช่นเดียวกับสองข้างทาง…
ตึกแถวริมถนนราชดำเนิน เป็นกลุ่มอาคารตามสองฝั่งข้างทางตลอดช่วงถนนราชดำเนินกลาง ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 15 หลัง เป็นผลงานร่วมกันของสถาปนิกหลายคนในยุคนั้น โดยมีสถาปนิกคนสำคัญ ได้แก่ จิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกผู้มีผลงานโดดเด่นในยุคของคณะราษฎร เช่น ศาลาเฉลิมกรุง อาคารไปรษณีย์กลาง ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ชุดอาคารทั้งหมดเริ่มต้นก่อสร้างในปี พ.ศ.2480 ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม การอออกแบบของอาคารกลุ่มนี้เป็นอิทธิพลสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture) ที่กำลังรุ่งโรจน์ในโลกของสถาปัตยกรรมช่วงปลายทศวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจัดอยู่ในกลุ่มสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดคโค (Art Deco) ซึ่งเป็นการออกแบบอาคารที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ใช้เส้นสายโค้งตรงที่เรียบง่าย ลดทอนความซับซ้อนด้านการออกแบบลงไป ซึ่งสะท้อนถึงความยากลำบากของโลกในช่วงสงคราม เนื่องจากสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้เติบโตขึ้นในช่วงที่โลกเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสงครามโลกถึงสองครั้ง ทำให้งานสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์หน้าที่การใช้งานจึงเข้ามาตอบโจทย์การออกแบบและอยู่อาศัยในช่วงระยะเวลานั้น

อาคารชุดนี้ก่อขึ้นในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวเชื่อมต่อกันเป็นชุด ผิวผนังเป็นเทคนิคก่ออิฐถือปูนโดยฉาบผิวแบบไม่เรียบ รวมถึงมีการเซาะร่องเลียนแบบร่องหิน โดยเน้นขอบและครีบของอาคาร ขอบหน้าต่าง และกันสาดด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้มีความสะดุดตา หลังคาและดาดฟ้าตัดเรียบตรง

ตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลางเคยเป็นที่ตั้งของห้างร้านและที่ทำการของรัฐและเอกชนมามากมายตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี บ้างก็จากที่นี่แล้ว บ้างก็ยังหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมรัตนโกสินทร์และโรงแรมสุริยานนท์ ซึ่งเปิดให้บริการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2486 (ปัจจุบันเหลือเพียงโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เอกชนดำเนินกิจการต่อ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น Royal Hotel)

อาคารกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกเผาเสียหายในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี พ.ศ.2535 (ต่อมาเปลี่ยนเป็นที่ทำการกองสลาก ก่อนที่จะทุบอาคารทิ้ง ปัจจุบันกลายเป็นลานจอดรถบริเวณป้ายรถเมล์กองสลากเก่า) หรือห้องแต่งผมพงษ์เทพ ร้านตัดผมที่ให้บริการแก่ลูกค้าบนย่านราชดำเนินมาเป็นเวลากว่า 60 ปี ที่แม้ว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนเป็นเกสเฮ้าส์ไปแล้ว เป็นต้น

ในช่วงรอยต่อระหว่างปี พ.ศ.2562-2563 ที่ผ่านมา เริ่มมีการรื้อถอนส่วนต่อเติมอาคารริมถนนราชดำเนินทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับภูมิทัศน์โดยรอบถนนราชดำเนิน โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวคือการปรับเปลี่ยนด้านหน้า (facade) ของอาคาร เปลี่ยนไปเป็นสถาปัตยกรรมแบบนิโอ-คลาสสิค (Neo-Classic) ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4-6 (ตัวอย่างสถาปัตยกรรมกลุ่มนิโอ-คลาสสิคในกรุงเทพที่สำคัญ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กลุ่มตึกแถวย่านท่าช้าง-ท่าเตียน เป็นต้น) ด้วยเหตุผล “ปรับปรุงอาคารย้อนยุคที่มีความเป็นเอกลักษณ์”

ด้วยเหตุนี้ หากใครได้มีโอกาสไปเดินแถวถนนราชดำเนินกลางในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าสองข้างทางเต็มไปด้วยตึกร้างไร้ผู้คน ป้ายของอดีตห้างร้านต่างๆที่เคยรุ่งเรืองในย่านนี้ถูกถอดทิ้งไปจนหมด ใครที่คุ้นเคยกับตลาดสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มักจะคึกคักในช่วงใกล้วันออกรางวัล มาตอนนี้อาจต้องตกใจ เพราะบรรดาแผงเล็กแผงใหญ่ต่างย้ายกิจการเข้าไปเปิดใหม่ตามแนวถนนตะนาวกันทุกร้าน รวมถึงกิจการอื่นๆ ที่เคยใช้พื้นที่ของตึกแถวราชดำเนิน ก็เริ่มพากันทยอยปิดตัวและหาทำเลใหม่

พร้อมๆกับการรื้อถอนที่ได้เปิดเผยให้เห็นเนื้อหนังของสถาปัตยกรรมที่ยึดหยัดเคียงคู่เกาะรัตนโกสินทร์กว่าครึ่งศตวรรษได้อย่างชัดเจนในทุกๆวัน เพื่อรอวันนับถอยหลังก่อนที่สถาปัตยกรรมชุดนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

การปรับภูมิทัศน์สถาปัตยกรรมของตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลางในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายพลวัตทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของคนในสังคมด้วย

เพราะสถาปัตยกรรมอาร์ตเดคโคเหล่านี้ ล้วนถูกสร้างขึ้นในยุคของคณะราษฎร กลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 ซึ่งในระยะเวลา 4-5 ปีให้หลัง มรดกทางสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรจำนวนมากเริ่มถูกรื้อถอนทำลายอย่างช้าๆ บ้างก็ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพให้กลายเป็นรูปแบบใหม่ที่เป็นที่นิยมของรัฐ โดยปราศจากการพิจารณาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ด้วยวัตถุประสงค์บางอย่างที่การเกี่ยวข้องกับการ “ลบ” ประวัติศาสตร์คนกลุ่มนี้ออกไปจากความทรงจำของผู้คน ราวกับว่าเรื่องราวของพวกเขาไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย

ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมเช่นนี้ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดี Destruction of Memory (2016) ที่บอกเล่าเกี่ยวกับการทำลายโบราณสถานที่สะท้อนความสำคัญในแง่ศูนย์รวมของชนชาติ ศาสนา และการเมือง ของคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อต้องการไล่ล้างความทรงจำและประวัติศาสตร์ที่ติดอยู่ในสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ให้หมดสิ้น โดยตัวสารคดีได้พูดถึงปรากฏการณ์ลบล้างประวัติศาสตร์ผ่านอาคารบ้านเรือนเช่นนี้เอาไว้ว่า

หนึ่งในวิธีลบประวัติศาสตร์ คือการทำลายร่องรอยทางกายภาพของประวัติศาสตร์นั้น โบราณสถานมากมายถูกทำลาย ไม่ใช่เพียงจุดประสงค์ทางการทหาร แต่ด้วยจุดประสงค์ของการจงใจทำลายล้างทางวัฒนธรรม ทำลายล้างอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มนั้น ทำให้คนเชื่อว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ไม่เคยมีอะไรหรือมีใครอยู่ตรงนั้นมาก่อน ไม่มีสิ่งประดิษฐ์ปลูกสร้างใดๆ เหลือเป็นหลักฐาน… เพราะทุกอย่าง…อันตรธานหายไปแล้ว

Contributors

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Writer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read