close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: “ยังธน” คนรุ่นใหม่ชาวฝั่งธนที่จะไม่ทนอีกต่อไป

Trawell
Contact search
Live Well 1.4k

“ยังธน” คนรุ่นใหม่ชาวฝั่งธนที่จะไม่ทนอีกต่อไป

15 October 2020 เรื่อง Trawell Thailand ภาพ Trawell Thailand
: บ้านเธออยู่แถวไหน?
: บ้านเราอยู่แถวดอนเมืองอ่ะ แล้วเธอล่ะ
: บ้านเราอยู่บางแค เป็นเด็กฝั่งธน!

นี่คงเป็นบทสนทนาที่หลายๆ คนคงได้พบเจอกันผ่านมาในชีวิตไม่มากก็น้อย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มีบ้านอยู่ฝั่งธนเอง หรือว่ามีเพื่อน มีคนรู้จัก ที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนฝั่งธน’ แล้วเคยสงสัยไหมว่า ความเป็นฝั่งธน – ฝั่งพระนครนี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อเราก็อยู่ในกรุงเทพเหมือนกัน จะมีก็แต่แม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้นที่กั้นเราไว้

วันนี้ Trawell อยากชวนทุกคนข้ามจากฝั่งพระนครที่คุ้นเคย ไปเยี่ยมเยียนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ฝั่งธน’ ย่านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าทุกพื้นที่นั้นย่อมมีประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็น “ฝั่งธน” เหมือนจะมีเสน่ห์บางอย่างที่ไม่อาจจางหายไปตามกาลเวลา ถึงว่าแม้ว่าพื้นที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเมืองใหญ่และเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ตาม

สิ่งที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับฝั่งธนให้มากขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่สถานที่ไหนๆ แต่เป็นคนกลุ่มหนึ่งจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่รวมเอาทั้งชาวฝั่งธนแท้ๆ และเพื่อนต่างถิ่นหัวใจฝั่งธน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการส่งเสริมคุณค่าที่มีอยู่ในฝั่งธนให้ได้รับความสนใจอีกครั้ง และมุ่งเน้นในการดึงศักยภาพของเยาวชนและคนในพื้นที่ออกมา ด้วยความเชื่อว่า คนรุ่นใหม่คือความหวังหลักที่จะสามารถขับเคลื่อนชุมชนหรือย่านที่ตัวเองอยู่ให้กลายเป็นเมืองที่ดีขึ้นได้

และกลุ่มคนที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ กลุ่ม ยังธน นั่นเอง

รูปรวมยังธน

วันนี้เป็นโอกาสอันดีของ Trawell ที่ได้พูดคุยกับจั่น (ม.ล.จิรทิพย์ เทวกุล), เมฆ (เมฆ สายะเสวี), ฮิน (ฐากูร ลีลาวปะ), ชัช (ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์), แทน (แทนไท นามเสน) และบู (รวิพล เส็นยีหีม) เหล่า core team ของทีมยังธน ที่ได้มาบอกเล่า แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน แรงบันดาลใจ ความประทับใจที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ได้ก่อตั้งยังธนขึ้นมา

ไปดูกันเลยดีกว่าว่าเรื่องราวที่พวกเขาได้มาคุยกับเราในวันนี้
จะทำให้ทุกคนได้รู้จักทีมยังธน รวมทั้งฝั่งธนเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน 🙂

ยังธนคือคน (และพื้นที่)

ฐากูร ลีลาวปะ (ฮิน) สถาปนิกและนักคิดสนุกผู้เกิดและเติบโตจากย่านจรัญสนิทวงศ์ได้มอบคำนิยามของ “ยังธน” เอาไว้ว่า

“ยังธน (Youngthon) คือกลุ่มคนที่อยู่ในย่านฝั่งธน ซึ่งมารวมตัวกันเพื่อทำงานในประเด็นการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธน เท่าที่ทีมเราพอจะทำกันเองได้ โดยเน้นไปเรื่องเยาวชนและการส่งเสริมคุณค่าที่มีอยู่ในฝั่งธนให้ได้รับความสนใจอีกครั้งเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าตัวแทนในการขับเคลื่อนการพัฒนาก็คือเยาวชน”

ฮิน ฐากูร ลีลาวปะ สถาปนิกและนักคิดสนุก ผู้เกิดและเติบโตในย่านจรัญสนิทวงศ์

นอกจากจะยังธนจะมีเพจในเฟซบุ๊กที่ทำหน้าที่สื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือเคยเกิดขึ้นในย่านฟังธนแล้ว ม.ล.จิราทิพย์ เทวกุล (จั่น) ยังเสริมว่า ยังธนเองเป็นเสมือน ‘แพลตฟอร์ม’ หรือพื้นที่ส่วนกลาง ที่เปิดกว้างให้ใครก็ตามที่มีไอเดีย หรือสิ่งที่อยากทำในพื้นที่ฝั่งธนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยจะมีพี่ๆ core team ทำหน้าที่คอยประสานและทำให้ไอเดียที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ชุมชนนั้นเกิดขึ้นได้จริงๆ

ม.ล.จิราทิพย์ เทวกุล (จั่น) นักวิจัยและสถาปนิกของศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

แทนไท นามเสน (แทน) ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ได้เข้ามาทำงานที่กรุงเทพ และปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งธน ได้เล่าให้เราฟังถึงความเป็นยังธนเพิ่มเติมว่า

“เราไม่ใช่คนพื้นที่แต่ก็มาทำงานเรื่องฝั่งธน เพราะเราสนใจเรื่องพื้นที่ มีความสนใจเรื่องท้องถิ่น ก็เลยรู้สึกว่าพวกนี้เป็นเซ้นส์ที่อยู่ในตัวยังธน คือมันอาจจะไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเป็นคนที่เกิดและโตในฝั่งธนเท่านั้นถึงจะทำยังธนได้ แต่คนที่มีเซ้นส์ในการทำงานเชิงพื้นที่ ฝั่งธนก็เป็น area-based ที่สามารถทำงานแบบนี้ได้”

แทนไท นามเสน (แทน) นักเขียนและนักวิจัยจากทีมพัฒนาเมือง SATARANA

ยังธนเริ่มจาก ‘บ้าน’

“เหมือนเราทำงานเกี่ยวกับชุมชนมาหลายชุมชน แล้วก็ตั้งคำถามว่า ถ้าวันนึงเราเป็นคนที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ไม่ใช่คนที่ไปเป็นคนกลาง ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในชุมชนนั้นเลย แล้วมีโอกาสได้พัฒนาชุมชน มันจะออกมาเป็นยังไง เราเริ่มจากการตั้งคำถามนี้ขึ้นมากับตัวเอง และเริ่มต้นทำงานกับชุมชนที่ตัวเองอยู่ ซึ่งก็คือฝั่งธน”

จากความสงสัยเป็นทุน ทำให้ เมฆ สายะเสวี (เมฆ) สถาปนิกผู้ทำงานพัฒนาเมืองและทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนต่างๆ อยู่แล้วเป็นประจำในนาม CROSSs ตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ในฐานะ ‘บ้าน’ ของตัวเอง เพื่อตามหาคำตอบ ก่อนจะได้พบเพื่อนๆ ชาวฝั่งธนที่อยากทำบ้านของแต่ละคนให้ดีขึ้นไม่ต่างกัน

 

 

เมฆ สายเเสวี (เมฆ) สถาปนิกและกระบวนกรจากทีมสถาปนิกชุมชน CROSSs

“รู้สึกว่ามันเป็นบ้านเกิดฉัน มันเป็นภูมิลำเนาฉัน เหมือนหน้าบ้านฉันสกปรกก็อยากจะกวาดให้สะอาด
มันมีเซ้นส์ตรงนั้นอยู่ประมาณนึง ก็เลยเป็นเรื่องไม่ยากที่เราจะตัดสินใจมารวมกลุ่มหรือทำอะไรด้วยกัน”

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ (ชัช) สถาปนิก นักเขียน และอดีตคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารออนไลน์ The Cloud อีกหนึ่งหัวแรงสำคัญของทีมได้ให้ความเห็นสะท้อนความต้องการร่วมกันของกลุ่มเพื่อต้องผลักดันบ้านเกิดให้ดีขึ้น

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ (ชัช) สถาปนิก นักเขียน และอดีตคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารออนไลน์ The Cloud

นอกจากเรื่องของความเป็นเจ้าของ ‘บ้าน’ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนจากชาวยังธนก็คือ ‘ความภาคภูมิใจ’ โดย ฮินและจั่น ยังได้เล่าว่าในพื้นที่ฝั่งธนยังมีหลายๆ อย่างที่น่าจะนำเสนอออกมาได้และน่าสนใจไม่เหมือนกับที่ไหนๆ และยังถูกบอกเล่าออกไปเพียงแค่ในวงแคบๆ หรือรู้กันเองแค่ในฝั่งธน จึงอยากจะสื่อสารเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ออกไปในวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม

“อย่างย่านตลาดพลู เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ มีความเป็น local ถึงตอนนั้นเราจะยังไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่อาศัยอยู่เท่าไหร่ จนเมื่อได้มาทำยังธนและได้มารู้จักคนในพื้นที่มากขึ้น ก็พบว่าคนส่วนใหญ่มีความเป็น Active citizen มาก ทั้งที่ปกติจะเจอในคนแถบต่างจังหวัดเยอะกว่า ทำให้เรารู้สึกว่าอยากที่จะทำงานกับพื้นที่นี้ต่อ เพื่อช่วยปลุกศักยภาพของพวกเขาให้เกิดขึ้น และทำให้หลายๆ ไอเดียจริงได้ในแง่ของการพัฒนา”

โดยฮินยังได้แชร์เพิ่มเติมถึงประสบการณ์ในการทำงานฟื้นฟูเมืองเก่าร่วมกับกว่า 35 ชุมชนทั่วประเทศ ก่อนที่จะได้มารวมกลุ่มยังธนแบบจริงจัง ซึ่งทำให้พี่ฮินค้นพบว่าสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในการทำงานพัฒนาเมืองหรือชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องของเงินหรือคุณค่าที่มีอยู่ในท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องของคนที่ทำงานร่วมกันและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในพื้นที่นั้นต่างหาก

“มันเหมือนประโยคหนึ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ จากญาติผู้ใหญ่ว่า ถ้าบินเดี่ยวเราคงจะบินไปได้ไม่ไกล แต่ถ้าเกิดไปเป็นฝูง ทุกคนช่วยดึงๆ กันไปหลายๆ ส่วน หลายๆ องค์ประกอบที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เราค่อนข้างครอบคลุมในหลายๆ ประเด็น ทั้งยังทำให้ไปได้ไกลมากขึ้นอีกด้วย”

ฝั่งธน…เมืองหลวงเก่าที่อยู่ในเมืองหลวงใหม่

“นิยามคำว่าฝั่งธน ภาพที่ออกมาแวบแรกในหัวของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จริงๆ แล้วฝั่งธนมันหลากหลายกว่าความเป็นเมือง กว่าความเป็นสวน กว่าความเป็นคลอง มันมีทุกอย่างรวมอยู่ด้วยกัน แล้วนิยามของฝั่งธนของแต่ละคนมันคือความหลากหลายของการมีอยู่ในพื้นที่”

สิ่งที่รวิพล เส็นยีหีม (บู) ฉายภาพให้เราเห็นว่า ฝั่งธนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูงมาก เชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะนึกภาพตามได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นแถบจรัญสนิทวงศ์ที่เต็มไปด้วยตึกแถวเก่าและชุมชนดั้งเดิม, แถบบางแคที่เต็มไปด้วยย่านอยู่อาศัยและหมู่บ้านมากมาย, แถบคลองสานที่ผสมผสานทั้งบรรยากาศคึกคักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจากห้างใหญ่เข้ากับความเงียบสงบของพื้นที่ริมน้ำและชุมชน ไปจนถึงบางขุนเทียน ที่ให้บรรยากาศของป่าชายเลน นากุ้ง และธรรมชาติที่เขียวชะอุ่มเหมือนอยู่นอกกรุงเทพ โดยนอกจากความหลากหลายของพื้นที่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากของฝั่งธนก็คือ ความเป็นเมืองใหญ่ที่ยังคงทิ้งกลิ่นอายแบบท้องถิ่นเอาไว้ โดยเมฆได้อธิบายความรู้สึกแบบนี้เอาไว้ว่า มันคือ ‘ความเป็นเมืองหลวงเก่า ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงใหม่’

บู รวิพล เส็นยีหีม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตย์มีเดียอาร์ตภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รวิพล เส็นยีหีม (บู) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“มันมีความรู้สึกว่าอยู่ในเมืองหลวงนี่แหละ แต่มันมีวัด มีต้นไม้ มีบ้านไม้เก่า มีอะไรที่ยังไม่ใช่เป็นตึกอยู่แล้ว มันไม่ใช่เหมือนลงรถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าปั๊บ เดินเข้าที่ทำงานเลย มันมีความเป็นชนบท ไม่รู้ชนบทไหม ยังมีหลักฐานของวัดเก่าๆ วัดร้างเก่าๆ เยอะมากเลย คล้ายๆ กับชนบทที่อยู่ใกล้เมืองหลวง แต่ในขณะเดียวกันมันก็กำลังจะโตขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีห้างใหญ่ มีรถ มีทางสัญจรที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ และคนฝั่งธนเท่าที่เจอ เราก็รู้ว่าแต่ละคนเป็นคนมีของ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ เหมือนกัน และขณะเดียวกันเขาก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว เช่น เชิดสิงโตต้องคนนี้ ตีกลองยาวต้องคนนี้ มันยังมีอะไรที่แบบ เฮ้ยมันมีอย่างนี้ด้วย”

พี่แทนก็ได้เสริมในเรื่องความหลากหลายของการเป็นเมืองและท้องถิ่นผสมกัน รวมถึงความรู้สึกเฉพาะในแง่ ‘ท้องถิ่นนิยม’ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ฝั่งธน

“ฝั่งธนเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นพื้นถิ่น ท้องถิ่น กับความเป็นเมืองผสมกัน แล้วพัฒนาการตรงนี้มันยาวนานมากๆ ด้วยความที่ว่าพื้นที่นี้เหมือนกับตัวพัฒนาการ หรือว่ารากของฝั่งธนมันเคยเป็นพื้นที่ของตัวมันเองมาก่อน จนกระทั่งว่าแม้ปัจจุบันในเชิงพื้นที่เราเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพแล้ว แต่ในแง่ความรู้สึกของท้องถิ่นนิยม คนจำนวนมากก็ยังพูดติดปากว่าเป็นคนฝั่งธน ความรู้สึกพวกนี้ของมันทำให้พี่นึกถึงพื้นที่ต่างจังหวัดตามชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกเมือง มันมีเซ้นส์พวกนี้ซ่อนอยู่ในฝั่งธนเยอะมากๆ”

และพี่เมฆยังทำให้เราได้เห็นภาพของ ‘ความเป็นเจ้าของพื้นที่’ ของคนฝั่งธน ว่าคนที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งธน แม้ได้ย้ายออกไปจากพื้นที่แล้ว แต่ก็ยังคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวฝั่งธนอยู่ ในทางกลับกัน ถึงทีมงานบางคนจะไม่ได้เกิดและโตในพื้นที่ฝั่งธน แต่ก็มีความผูกพันกับฝั่งธนเหมือนกัน อาจเรียกได้ว่าความเป็น ‘ฝั่งธน’ นั้นฝังรากลึกอยู่ในตัวของผู้คนโดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวพื้นที่

“มีช่วงนึงที่ลงพื้นที่กันเยอะๆ แล้วเหมือนฮินก็ตั้งคำถามว่า เออ มันมีคนที่เขาเคยอยู่ตลาดพลูมาก่อน แต่เขาย้ายไปที่อื่นนะ แต่เขายังบอกตัวเองว่าเขาคือคนตลาดพลู มันยังมีความเป็นเจ้าของพื้นที่ในย่านอยู่ มันยังมีความรู้สึกผูกพันว่า เอ้ย ฉันเด็กวงเวียนใหญ่นะ ฉันเด็กโพธิ์สามต้นนะ”

เด็กๆ เตะฟุตบอลหลังโบสถ์วัดซางตาครู้ส ฟุตบอลยังธนคัพ สนามที่ 4

บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลยังธนคัพ สนามที่ 4 ณ โรงเรียนวัดซางตาครู้ส โครงการล่าสุดที่ยังธนจัดขึ้นเพื่อนสนับสนุนเยาวชนและการเล็งเห็นประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะในฝั่งธนบุรี

บ้านของคนกรุงเทพ

ชัชยังได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ฝั่งธนนั้นเปรียบเสมือน ‘บ้านของคนกรุงเทพ’

“สิ่งหนึ่งที่สังเกตคือ คนส่วนใหญ่บ้านอยู่ฝั่งธน แบบที่เป็นคน Generation ใหม่นะ พอมาเป็นคนฝั่งธนจริงๆจะมีความเป็นบ้านฉันอยู่ตรงนี้นะ มีความอยู่มาก่อน บางคนอยู่มา 100 ปีจริงๆ ก็เลยรู้สึกว่าฝั่งธนเป็น residential คือแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นฝั่งที่คนกลับบ้านกัน เหมือนแบบคนข้ามไปทำงานฝั่งพระนคร แล้วก็กลับบ้านที่ฝั่งธน จริงๆ พูดว่าฝั่งธนคือบ้านของกรุงเทพก็ได้ อันนี้แบบไม่ได้มีวิชาการส่วนตัวนะ พอมันเป็นบ้านก็เลยมีเรื่องวัฒนธรรม มีเรื่องการกิน มีอะไรที่แบบว่า ค่อนข้างอุดมไปด้วยวัฒนธรรมมากกว่า”

ซึ่งความเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฝั่งธนนั้น เป็นทั้งของผู้ที่อาศัยมาแต่โบราณ บ้านของคนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่กันมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน และได้นำมาซึ่งวัฒนธรรม อาชีพ อาหารการกิน จะเห็นได้จากร้านอาหารหลายร้านทั้งคาวหวาน ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งความเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนจากฝั่งพระนครก็ดี หรือคนจากต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพ เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยและค่าครองชีพในฝั่งธนที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับฝั่งพระนครซึ่งส่วนใหญ่เป็นย่านธุรกิจและตัวเมือง และปัจจุบันในพื้นที่ฝั่งธนเองก็กำลังมีทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ขยายมาจากฝั่งพระนคร โครงการคอนโดมิเนียม ศูนย์การค้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในย่านฝั่งธน

พี่ชัชยังได้เล่าต่อว่า ด้วยความเป็นบ้านนี้เองที่ทำให้ฝั่งธนเหมือนจะมี subculture เป็นของตัวเอง ทั้งยังมีเรื่องความผูกพันของคนในย่าน อย่างเช่นเวลากลับบ้านด้วยกันกับเพื่อนในสมัยเรียน หรือว่าเวลานั่งแท็กซี่หลังจากการไปสังสรรค์ แล้วได้ไปแวะส่งเพื่อนแต่ละคน ก็จะรู้สึกว่าบ้านคนนี้อยู่ตรงนี้นะ รู้สึกมีความเป็นเพื่อนบ้านระหว่างกัน ซึ่งเราเชื่อว่าหากใครเป็นคนฝั่งธน ก็คงจะเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ไม่ยาก

ทีมยังธนและตัวแทนชุมชนฝั่งธนบุรี กำลังทำกระบวนการสะท้อนผลของกิจกรรม

ทีมยังธนยังมีความสนใจการทำงานกระบวนการ เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนในฝั่งธนบุรีเป็นสำคัญ

ฝั่งธน…คนบ้านเดียวกัน

นอกจากความเป็นบ้านของคนกรุงเทพแล้ว พี่จั่นก็ได้ขยายแนวคิดนี้ต่อไปอีกว่า การมีแหล่งที่อยู่อาศัยในแถบพื้นที่ฝั่งธนเหมือนกันนั้น ได้นำมาซึ่งความรู้สึกร่วม ความผูกพัน หรือความเชื่อมโยงบางอย่าง คล้ายๆ กับว่าคนฝั่งธนไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของฝั่งธน แต่ก็รู้สึกว่าเราต่างเป็นคนบ้านเดียวกัน

“คนมีความเชื่อมโยงกันจริงๆ หมายถึงความเป็นฝั่งธนคืออะไร คือผู้คนจะรู้สึกว่าเชื่อมโยงกัน หมายถึงว่า ฉันอยู่ตลาดพลูใช่ไหม อีกคนนึงอยู่โพธิ์สามต้น คือเขาจะรู้สึกว่ามันไม่ไกล เราไม่ได้รู้สึกว่าเราแยกกันอยู่ มันเหมือนว่าเราคือคนบ้านเดียวกัน ไม่ว่าเราจะอยู่คนละตำแหน่ง แต่เราก็คือคนฝั่งธน เฮ้ย ฝั่งธนคือบ้านเดียวกัน เหมือนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ถ้าเกิดบอกว่าเป็นคนฝั่งธนอะ เขาก็จะมีความรู้สึกรวมหมด”

พี่แทนก็ได้สนับสนุนในประเด็นนี้ต่อไปว่า

“ในขณะที่ฝั่งกรุงเทพ เราจะนึกถึงคนกรุงเทพในลักษณะของเป็นคนลาดพร้าว เป็นคนเอกมัย อ่อนนุช คือเราจะนึกถึงภาพของการแบ่งพื้นที่เป็นเขตมากกว่า ฝั่งพระนครจะเป็นอย่างนั้นมากกว่าสำหรับพี่นะ เวลาเราพูดว่าเป็นคนตลาดพลู เจริญนคร เป็นคนบางพลัด เซ้นส์ของเราจะมองเห็นฝั่งธนเป็นก้อนดียวกัน เราจะไม่เห็นขอบเขตของมัน ทุกคนเป็นพื้นที่เดียวกัน มันมี unity บางอย่างครอบอยู่อีกที ไม่ว่าจะเรื่องของภูมิหลังเชิงประวัติศาสตร์ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่”

ทีมยังธนกำลังสอนน้องๆ ถ่ายภาพ ในกิจกรรม workshop สอนเด็กๆจากฝั่งธนบุรีทำสื่อ

2020-01-19-YoungThon-เที่ยวคลองลองเล่า Workshop-20

งานที่ทุกคนทุกปาร์ตี้ มาร่วมกัน เฉลิมฉลองไปด้วยกัน

เมื่อถามถึงโปรเจคที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ รวมทั้งกระบวนการทำงานของ ยังธน จั่นได้บอกกับเราว่าทางทีมมีโปรเจคที่กำลังเกิดขึ้นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานเชิงวิจัย หรือการจัดอบรม รวมทั้งโปรเจคที่ต่อยอดมาจากงานที่เคยทำมา ทั้งในด้านของสื่อ ที่ทางทีมกำลังทำช่องทางการสื่อสารของตัวเองในรูปแบบวีดีโอ และการนำเงินที่พอเหลือจากการทำกิจกรรม กลับไปช่วยชุมชนในการซ่อมแซมพื้นที่สาธารณะ ทำให้ในอนาคตยังธนจึงมีโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายใหม่ๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะได้จัดกิจกรรมซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในระยะยาวมากขึ้นอีกด้วย

ชัชยังได้เสริมเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรเจคที่เราอาจจะได้เห็นเร็วๆ นี้ คือการทำให้ยังธนปรากฏขึ้นในรูปแบบของสื่อที่เป็น mainstream หรือสื่อทางหลักมากขึ้น เนื่องจากเห็นถึงศักยภาพที่ยังธนมี ว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบ content อย่างเดียว แต่สามารถทำเหมือนสิ่งที่ทางทีมทำอยู่แล้ว เช่น จัดกิจกรรม จัดอีเว้นท์ เวิร์คช็อป หรือว่าทำอะไรที่เกี่ยวกับย่านมากขึ้น

เมฆได้อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นของการทำสื่อว่า

“จริงๆ แล้วยังธน มันน่าจะเป็นงานที่ทุกคนทุกปาร์ตี้ มาร่วมกัน เฉลิมฉลองไปด้วยกัน เราก็เลยคิดว่าถ้ามันมีสื่อที่มันเล่าแบบเป็นกลางมากๆ เลย ก็ชมมันทุกคนแหละ จะเป็นนักการเมือง ไม่นักการเมือง ฝั่งซ้ายฝั่งขวา ถ้าเราชัดเจนและมีช่องทางในการเล่าเรื่องนี้ให้มันสร้างสรรค์ มันก็น่าจะดีครับ บางทีงานสื่อที่เป็นเชิงทดลองเราอาจจะได้ทำล้อไปกับ content เพื่อให้มันเสริมกำลังกัน คือตอนนี้ถ้าพูดถึงการสื่อสารในยังธนก็มีในเพจนี่แหละที่แข็งแรง”

และในส่วนของกลุ่ม หรือภาคีที่มาร่วมกับยังธนก็เป็นไปในรูปแบบตามแต่ละโปรเจคเช่นเดียวกัน ตั้งแต่สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ที่ได้มอบเงินสนับสนุนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำ workshop แล้วรวมเป็น core team ณ ปัจจุบันนี้ อย่างงานยังธนคัพที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่มาก มีทั้งภาคชุมชน ภาคการเมือง เเละภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม จั่นได้บอกกับเราว่า เนื่องจากคอนเซ็ปต์คือเรื่องของผู้คน เครือข่าย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการร่วมมือหรือการที่มีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน

ประโยชน์ที่เกิดของทั้งตัวบุคคลเองและส่วนรวม

“เป้าหมายจริงๆ ก็คล้ายๆ กับยังธนคืออะไร เราอยากจะเป็นพื้นที่รวมความสัมพันธ์ของคน หรือข้อมูล หรือทักษะที่มีด้วยกันให้กลายเป็นคล้ายๆ role model หรือแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่แบบ bottom-up (จากข้างล่างไปสู่ข้างบน) อยากจะเป็นพื้นที่รวม ให้คนเข้ามาแสดงความสามารถและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาแล้วมาแชร์ไอเดียร่วมกัน มาทำอะไรร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่โดยตัวเขาเอง เหมือนเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นคนขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดขึ้นได้ค่ะ ซึ่งผลที่ได้รับก็คือแน่นอนว่าคนในชุมชนของเขาเองต้องได้ประโยชน์”

นี่คือคำตอบของจั่น หลังจากที่เราถามว่า เป้าหมายที่ชาวยังธนอยากให้เกิดขึ้นจริงๆ นั้นคืออะไร ซึ่งทำให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขานั้นให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นอย่างมาก โดยไม่ใช่เพียงคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่จัดขึ้น แต่เป็นทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ไปด้วยกัน

“สิ่งที่คาดหวังก็จะเป็นเชิงคุณภาพมากกว่า ที่เรารู้สึกว่าคนที่เข้ามาร่วมกับเรา หนึ่งเขาได้มีทักษะเพิ่มมากขึ้นนะ มีความสามารถในการเป็นผู้นำ หรือว่ามีบทบาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่เขาได้ พี่ว่าจะเป็นทาง อยากให้คนที่เขามาร่วมได้ทักษะ ได้พัฒนาทักษะที่มี และให้เขาได้รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์อะไรให้กับพื้นที่ของเขา ให้เห็นว่าการที่เขาเข้ามาร่วมกิจกรรม มันมีประโยชน์สำหรับเขาจริงๆ ทั้งในเชิงส่วนบุคคลเอง หมายถึงการที่เขาได้กลับมาที่ตัวเอง และได้ทำอะไรเพื่อชุมชนของตัวเองอีกด้วย ก็จะมองที่คนเป็นหลัก”

จั่นยังได้เสริมในเรื่องตัวชี้วัดว่าหลักๆ แล้วก็จะเป็นไปตามแต่ละโปรเจคที่เกิดขึ้น และทางทีมเน้นไปที่การลงมือปฏิบัติ แล้วค่อยไปดูผลกระทบจากสิ่งที่ทำอีกที ว่าเกิดขึ้นขนาดไหน ถ้าถามถึงตัวชี้วัดหลักในภาพรวมก็อาจจะเป็นเรื่องของการมีเครือข่ายมาร่วมกับยังธนมากยิ่งขึ้น

เมฆได้ปิดท้ายในเรื่องของเป้าหมายและตัวชี้วัดไว้ว่า

“พื้นฐานของยังธนมันคือเอาคนมาเจอกันเนอะ ตัวชี้วัดก็จะแล้วแต่โครงการ มันก็มีความเป็นไปได้เต็มไปหมดเลย มันก็จะมีตัวชี้วัดใหม่ๆ ขึ้นมา ขึ้นอยู่กับไอเดียของคนที่เป็นจุดเริ่ม”

“ยังคงหาคำตอบเรื่อยๆ นะ ว่าจริงๆ แล้วยังธนเป็นไปเพื่ออะไร เป็นไปเพื่อแค่คนสองคนหรือเปล่า หรือว่าจริงๆ มันเป็นแค่กิจกรรมที่ชวนคน ไม่ต้องเป็นคนฝั่งธนก็ได้ หรือว่าไม่ต้องเป็นคนก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน สิ่งมีชีวิตอะไรก็ได้ที่เข้ามาอยู่ในฝั่งธน แล้วมันจะเกิดอะไร เกิดปฏิสัมพันธ์กันขึ้นมายังไง จริงๆ พื้นที่มันเป็นแค่ชื่อเนอะ มันเป็นชื่อแค่แบบง่ายกับเราดีที่เราจะบอกว่าเราคือใคร เราทำอะไร ที่ไหน แต่เป้าในความเห็นส่วนตัวคิดว่ามันอาจจะเป็นไปได้ไกลกว่านั้น”

กระดาษ Post it จากงานกระบวนการ

2019-10-19-YOUNG THON-Open Data Platform #1-11

ยังธนคัพ

ยังธนคัพเป็นกิจกรรมที่ทีมยังธนได้จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยมาจากการผสมคำระหว่าง ยังธนและฟุตบอลคัพ โดยมีคอนเซ็ปต์ที่ว่า ‘เปิดสนาม เผยประวัติศาสตร์ ศึกลูกหนังเยาวชนฝั่งธน’ ซึ่งเป็นไอเดียหนึ่งที่เกิดขึ้นจากงานเวิร์กช็อป ‘จุด.รวม.ธน’ ที่ทางยังธนได้จัดเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 เป็นแรงบันดาลใจของ ศกวรรณ์ สุขสบาย (อ๊อฟ) ที่อยากให้ทางฝั่งธนฯ ได้จัดแข่งกีฬาควบคู่ไปกับการปลุกเยาวชนให้มีความภูมิใจในบ้านเกิด

ซึ่งเมื่อทางทีมงานได้รับไอเดียนี้ก็เกิดความสนใจมากๆ จึงได้ลงมือศึกษาความเป็นไปได้พร้อมๆ กับการหาทุนมาสนับสนุนไอเดียให้เป็นจริง โดยที่หลังจากนั้นไม่นานยังธนก็ได้รับทุนจาก ‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ เพื่อเริ่มดำเนินการจัดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นพร้อมๆ กับการทำงานสื่อสารควบคู่

และเมื่อได้ลงมือดำเนินการไปละเอียดมากขึ้น ก็พบว่าในบริเวณของฝั่งธนฯ นั้นมีพื้นที่สนามกีฬาเคียงคู่กับย่านชุมชนมากมาย และได้รับการดูแลกันเองจากเยาวชนและคนในชุมชนดังกล่าว เช่น สนามบนป้อมปัจจามิตรข้างชุมชนแฟลตตำรวจสถานีตำรวจปากคลองสาน สนามกีฬาชุมชนริมน้ำในชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ โดยมีจุดเชื่อมโยงที่น่าสนใจของสนามเหล่านี้ก็คือ เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นลานกีฬาเล็กๆ ลับตาผู้คน จนคล้ายคลึงกับสนามที่เรามักเรียกกันว่า สนาม Street Football ที่มีความ Underground และเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่รอบข้าง

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น จึงทำให้ทางยังธนได้ลงไปประสานงานและเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่ง Street Football เยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปี ที่มีชื่อว่า ‘ยังธนคัพ’ เพื่อเป็นการกลับไปตอบโจทย์จากแรงบันดาลใจที่ริเริ่มไว้ตอนแรกนั่นเอง

การแข่งยังธนคัพนั้นจะมีการอ้างอิงมาจากการแข่งขัน Street Football แบบ 3 ต่อ 3 ที่ต้องเน้นทักษะผู้เล่นเป็นหลัก และนำมาดัดแปลงกติกานิดหน่อยให้เหมาะสมกับเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปี รวมทั้งสอดคล้องกับสนามขนาดคับในชุมชนที่เข้าไปประสานงานแข่งขันอีกด้วย

ยังธนมีความคาดหวังว่าการแข่งขันยังธนคัพจะช่วยให้น้องๆ เยาวชนที่มาเข้าร่วมนั้นเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยในเรื่องการเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนอีกด้วย และด้วยทางยังธนเองที่มีพื้นที่หน้าเพจของเฟซบุ๊กเองด้วยนั้น จึงทำให้ได้ทำหน้าที่สื่อที่สามารถสร้างการรับรู้ในเรื่องกิจกรรมยังธนคัพ และสามารถเล่าเรื่องพื้นที่ในเชิงประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมในโลกของออนไลน์ควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อเป็นกิจกรรมนำร่องในการพัฒนาย่านที่การมีส่วนร่วมของเยาวชนในสองมิตินั่นเอง และคาดว่าจะช่วยสะท้อนเรื่องราวของการมีอยู่ในเชิงพื้นที่สาธารณะในฝั่งธนฯ ที่ควรมีมากขึ้น

เด็กๆ เตะฟุตบอล

TANN0150

เมื่อมองเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน จึงเกิดบทสนทนา

ในส่วนของ feedback ที่ได้รับจากการไปลงพื้นที่และจัดกิจกรรมในชุมชน และจากลูกเพจในเฟซบุ๊ก ก็เรียกได้ว่าเป็นกระแสตอบรับดีเกินคาด พี่เมฆได้พูดถึง feedback ที่ได้รับจากกิจกรรมยังธนคัพ ที่เปิดสนามให้เด็กๆ ได้มาแข่งขันกีฬาฟุตบอล ซึ่งนอกจากตัวนักเตะเองที่มีความสุขแล้ว ผู้จัดงาน อาสาสมัครที่มาเข้าร่วม หรือแม้แต่คนอื่นๆ ในชุมชนเองก็มีความสุขไม่แพ้กัน

“มันดีตรงที่ได้มาแชร์กันว่าเห็นแล้วเขานึกถึงสมัยเด็ก ว่าเขาก็อยากจะมีเวทีให้ตัวเองมาได้เตะ แต่ตอนนี้เขาเห็นลูกๆ หลานๆ ในชุมชนได้มาแข่งอะไรกันอย่างนี้เขาก็ฟิน เหมือนเป็นความประทับใจที่ส่งกันในคนรุ่นเราด้วยประมาณนี้”

“จริงๆ มันก็เป็นเรื่องคนนั่นแหละ ได้ซี้กับประธานชุมชนมากขึ้น มันเหมือนเราเข้าไปตั้งแต่ตอนที่มันไม่เกิด จนสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ว่า เฮ้ยมันมีการแข่งขันเกิดขึ้น แล้วมีคนมาดู บางชุมชนแบบมันคึกคักขึ้น หรือว่ามันทำให้เราได้สนิทกับทุกคนเลยนะ หมายถึงว่าทั้งประธาน คนที่อาจจะมารู้จักเราในวันนั้นเลย ความประทับใจพี่ คือพี่ว่ามันคือระหว่างนั้นแหละ ที่เจอคนจริงๆ เหมือนว่างานที่เราทำก็จะได้เพื่อนใหม่มาเพิ่ม”

ชัชยังได้เล่าให้ฟังถึงในความประทับใจที่เกิดขึ้นในส่วนของคนทำงานเอง อย่างโครงการยังธนคัพที่มีน้องอาสาสมัครเข้ามาช่วยเป็นกรรมการจากที่เห็นโพสต์ทางเพจ แล้วหลังจากนั้นน้องก็สอบติดพละ อีกอย่างหนึ่งคือเวลาที่โพสต์ทางออนไลน์ ในประเด็นที่เป็นเชิงประวัติศาสตร์ ตั้งคำถามหลวมๆ ก็มักจะมีคนเข้ามาตอบ มีคนเข้ามาช่วยเติมความรู้เข้าไปในประเด็นนั้นๆ อยู่เสมอ

แน่นอนว่า feedback ในส่วนที่เป็นข้อเสียนั้นก็มีบ้าง แต่เป็นการ feedback กันเองภายใน พี่เมฆได้อธิบายต่อว่า

“ส่วนใหญ่ข้อเสียจะเป็นเรื่องการจัดการเวลากับทรัพยากรคน บางทีงานที่ทำมันโอเวอร์เกินกำลังของทีม ตอนแรกเหมือนจะมาด้วยใจ ใช้ใจเป็นใหญ่ แต่กายบางทีมันไปไม่ถึง กับเวลามันไปไม่ถึง แต่ความคาดหวังระดับย่านมันยิ่งใหญ่มาก”

แต่น้องบูก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความน่าประทับใจที่ซ้อนอยู่ในความโอเวอร์โหลด หรือผิดสเกลที่เกิดขึ้น

“เหมือนยังธนคัพเนี่ย มันทำให้น้องที่ไม่ได้ทีมใหญ่มาก ได้มีโอกาสมาเตะ อย่าง feedback ที่ได้รับตอนพาน้องไปดูบอล คือบางคนไม่มีโอกาส แม้กระทั่งจะพาตัวเองไปนั่งดูบอลเลยนะ หรือจะไปเจอนักบอลที่ตัวเองชอบ เราได้เห็นว่าเด็กมีโอกาสในการทำอะไรสักอย่างนึงที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เล่นบอล หรือทำหนัง เป็น feedback ที่ดีในความผิดสเกลของมัน น้องดูภูมิใจมากเลยที่แบบว่าได้รายการใหญ่เว้ย แต่จริงๆ แล้วก็คือเรารายการอะไรก็ไม่รู้”

บรรยากาศทำกระบวนการชุมชนข้างเส ฝั่งธนบุรีของทีมยังธน

2020-02-23 - Young Thon Cup - Meeting After Young Thon Cup-10

ลองมารู้จักกัน แล้วทำไปด้วยกัน

เมื่อเราได้ถามถึงสิ่งที่อยากฝากไปยังเยาวชน หรือผู้ที่อยู่ในย่านอื่นๆ เกี่ยวการลุกขึ้นมาอนุรักษ์ พัฒนา พื้นที่หรือย่านที่ตนเองอยู่ บูก็ได้ให้คำตอบว่า

“ทำอะไร คิดในอะไรที่เราอิน แล้วมาคุยกันว่าถ้าเกิดมีคนอื่นที่อินกับเรา มันน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้จริงๆนะ สิ่งที่เราเป็นอยู่กับสิ่งที่เราอินให้มันไปด้วยกัน แล้วก็หาคนที่มีอะไรคล้ายๆ กัน”

จั่นยังได้เสริมว่า สิ่งที่ได้นั้นก็จะต้องตอบโจทย์ หรือเกิดประโยชน์ ภายในบริเวณพื้นที่ ความเป็นย่าน พี่จั่นและพี่เมฆยังได้เชิญชวนทุกคนที่มีบ้านอยู่ใกล้ฝั่งธนว่าสามารถเข้ามาร่วมกับทีมยังธนได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ทางทีมกำลังต้องการผู้ที่มีความสามารถในการหาช่องทางของบประมาณ เนื่องจากขณะนี้มีพี่จั่นที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อยู่เพียงคนเดียว

“เราเปิดอยู่แล้วค่ะว่าใครจะมา ไม่จำเป็นต้องเป็นพี่คนเดียว ถ้าเกิดได้หน่วยงานที่เขาเห็นคุณค่า หมายถึงว่าเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่เข้ามา อาจจะเป็นในรูปแบบของเป็นกลุ่มเข้ามาก็ได้ หรือจะเป็นรูปแบบของแค่คนเดียวก็ได้ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ core team ก็ยินดีมากเลยค่ะ ใครมีไอเดียอยากทำอะไรที่ยังขาดแนวร่วม หรืออยากเข้ามาในแง่ของการทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ตัวเอง ให้กับชุมชนตัวเอง หรืออยากมาหาสกิลเพิ่มเติมในแง่ของการทำงานสาธารณะก็เข้ามา Inbox ในเพจมาได้เลยค่ะ”

ชัชยังได้ฝากถึงอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การรู้จักคนให้เยอะ

“รู้สึกว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนทีมงาน ย่าน หรือว่าขับเคลื่อนโปรเจคได้ มันเกิดขึ้นจากทักษะที่แตกต่างกันของทีมงาน อย่างเช่นพี่ทำงานด้านการสื่อสารเป็นหลัก พี่จั่นดูแลจัดการด้านวิชาการ น้องบูก็มาช่วยตรงนั้นตรงนี้ พี่เมฆก็คุยกับชุมชน ฮินก็สร้างสรรค์อะไรเยอะๆ รู้จักคนเยอะ อย่างแทนก็มาช่วยเรื่องวิจัย ประวัติศาสตร์ แต่ละจิ๊กซอว์มันทำให้สามารถขับเคลื่อนไปได้เยอะกว่าที่คิด ก็เป็นความแตกต่างและหลากหลายที่ดีถ้าจะทำอะไรด้วยกัน”

ทีมยังธนและทีมนักฟุตบอลถ่ายภาพร่วมกัน สำหรับกิจกรรมยังธนคัพรอบชิงชนะเลิศ

ความฝันที่อยากให้เกิดขึ้น

ปิดท้ายกับคำถามที่เราได้ถามพี่ๆ แต่ละคนถึงสิ่งที่เป็นความฝันที่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับยังธน หรือแม้แต่ฝันที่คนธรรมดาคนนึงไม่กล้าฝัน

“พี่ก็จะอินกับงานที่ตัวเองทำมากพอสมควร โดยเฉพาะยังธน พี่อินมากเลย ก็เลยรู้สึกว่าพี่จะทำมันให้ดีที่สุด เหมือนเป้าประสงค์ของยังธนคงไม่ต่างกับของพี่ ว่าเราอยากจะเป็นตัวเหมือนขับเคลื่อน ที่มันทำให้สังคม คน เมืองดีขึ้นค่ะ” – จั่น

“ถ้าส่วนตัวผมก็อยากให้ที่ที่เราอยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นฝั่งธนก็ได้ ต่างจังหวัดก็ได้ แต่อยากให้ที่ที่เราอยู่มันมีครบสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศดี เพื่อนดีๆ กิจกรรมดีๆ อาหารดีๆ นี่ก็เป็นความฝันแบบโลภๆ มากเลย บ้านน่ารัก มีทุกอย่างพร้อม หมายถึงสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมดี ก็ถ้าเป็นไปได้แบบฝันสุดๆ เลย ก็อยากให้มันเกิดในเมืองหลวงเรานี่แหละ และเดาแทนว่าน่าจะมีคนที่อายุใกล้ๆ เรา คิดเหมือนเราเยอะแยะไปหมดเลย ไม่แน่อีกสัก 20-30 ปีมันอาจจะมีคนที่เริ่มทำอะไรกิ๊กก๊อกเล็กๆ น้อยๆ ในตอนนี้ แล้วต้นไม้มันอาจจะโตขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้าพร้อมกัน ซึ่งมันก็เริ่มด้วยจากบ้านเราเอง แล้วก็ย่านเราเอง ถ้ามันไม่สำเร็จก็ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดให้ได้เจอสภาพแวดล้อมนี้เร็วๆ นะ อันนี้ก็เป็นฝันไกลๆ นะครับ ตอนนี้ก็ทนได้ก็ยังทนอยู่” – เมฆ

“คิดแบบใกล้ๆ มากเลย แล้วก็คิดแบบเป็นจุดร่วมของยังธนนิดนึง อยากให้ทุกคนยินดีที่จะเล่าเรื่องตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น คือเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด แล้วเรายินดีที่จะเล่ามันออกไปแบบที่เรายินดีกับมัน ที่มันเป็นอยู่ แค่นี้เลย” – บู

“ถ้าเป็นของยังธนคิดว่าจะเป็นเรื่องของ คนที่มาต่อเรื่อง generation อย่างที่พี่จั่นพูดมาตอนแรกเริ่มต้นเลยว่า มันไม่ได้จะหยุดแค่นี้ เราก็มองว่าจริงๆ ที่เราทำตอนแรกเรารู้สึกว่าเราก็อิน พอมาถึงตอนนี้ ความอินมันก็ยังมีอยู่ประมาณนึง แต่รู้สึกว่ามันน่าจะมีเลือดที่ข้นกว่า เลือดข้นคนธนอะไรอย่างนี้ รู้สึกว่าถ้า matching ตรงนั้นได้ มันก็จะยั่งยืนดีกับเรา หรือมีแรงบันดาลใจที่มากกว่าเรา มันน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้เยอะ คิดแบบว่ามีใครมาร่วมเพิ่มเยอะ อย่างที่พูดไปตอนก่อนหน้า มันอาจจะยิ่งดี ดีขึ้นไปอีก” – ชัช

ทีมยังธนคัพกำลังเตรียมจัดกิจกรรม

จากการได้พูดคุยกับยังธน ทำให้เราได้เห็นว่ายังธนนั้นคือคนจริงๆ ตามที่พี่ๆ บอก และไม่ใช่เพียงแค่คนหนึ่งคนใด แต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งยังอยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในฝั่งธนหรือไม่ก็ตาม หรือแม้ว่าคุณอาจจะอยากนำสิ่งที่เกิดขึ้นกับยังธน ไปทำกับย่านหรือพื้นที่ที่คุณอาศัยอยู่

เราเองก็เชื่อว่าทุกๆ ท้องที่ หรือชุมชนนั้นต่างมีเรื่องราวหรือคุณค่าอีกมากมายที่รอคอยการถูกค้นพบ ขอเพียงแค่ยังมี ‘คน’ ที่มองเห็นและนำพาเรื่องราวเหล่านั้นออกสู่ในวงกว้างให้คนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะคนที่เป็นคนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ เอง เพื่อที่จะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับคนในย่าน เป็นความภาคภูมิใจ เป็นอัตลักษณ์ที่จะไม่หายไปในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว สถานที่ที่สวยงาม เต็มไปด้วยคุณค่า วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ จะไม่มีความหมายใดๆ เลย หากไม่มีคนที่มองเห็นในความสวยงามเหล่านี้

Because it’s our city and you are a big part of it 🙂

Contributors

contributor's photo

Trawell Thailand

Writer

contributor's photo

Trawell Thailand

Photographer

Next read