close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: สรรพรถเข็น

Trawell
Contact search
See Well 5.9k

สรรพรถเข็น
นานารถเข็นที่คนสำเพ็งฝากชีวิต

13 January 2021 เรื่อง Trawell Thailand ภาพ ชนิภา เต็มพร้อม

ในย่านสำเพ็งแห่งนี้มีรถเข็นมากหน้าหลายตา ขายของแตกต่างกันไป พ่อค้าแม่ค้าบางคนก็อยู่กับรถเข็นตัวเองมาเป็น 10 ปี จนกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 หรือบางคนไม่มีความสุขกับงานที่ทำจนต้องลาออกมาจับพลัดจับผลูเข็นรถขายของโดยไม่มีทางเลือก

นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ตัดสินใจมีรถเข็นเป็นของตัวเอง ก็เหมือนกับว่า 2 เท้าของผู้ทำอาชีพค้าขายต้องพร้อมเดินไปกับมันด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาจะต้องฝากไว้กับรถเข็นของตัวเอง เพราะทุกคนต่างก็ต้องตามหาลูกค้าที่ใช่ระหว่างทางที่เดินคู่ไปกับรถเข็นด้วย

บ้างก็เจอสิ่งนั้นแล้วจนไม่อยากหันเหเปลี่ยนไปทำอาชีพไหน และเลือกที่จะลงหลักปักฐานเป็นรถเข็นเจ้าประจำในใจของลูกค้าต่อไป แม้จะแลกมาด้วยความเหนื่อยในตอนแรก แต่กลับได้ค้นพบว่าการได้เป็นนายตัวเองกับรถเข็น ทำให้ชีวิตของพวกเขามี ‘อิสระ’ อีกครั้ง และรู้ว่าตัวเองควรจะเดินไปทางไหน หลังจากหลงทางในที่ ๆ ไม่ใช่ของตัวเองมานาน

วันนี้ทาง Trawell จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาสัมผัสมุมมองเล็ก ๆ ของคนเข็นของขาย ณ ย่านสำเพ็งกัน ซึ่งเรื่องราวแลกหยาดเหงื่อเปื้อนรอยยิ้มที่จะได้อ่านต่อไปนี้ อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เรากล้าลองตัดสินใจที่จะมีชีวิตในแบบของตัวเองสักวันหนึ่งแบบพวกเขาก็เป็นได้ : ) 

Content Writer : นภัสสร  ชัยศิลป์
Photographer : ชนิภา เต็มพร้อม

รถเข็นคันที่ 1

ถั่วต้มมันต้มของ ‘พี่เนียน’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

พี่เนียนชาวร้อยเอ็ด อายุ 45 ปี จากอาชีพสาวโรงงานปักผ้าพระประแดง ที่ลาออกมาทำอาชีพเข็นรถขายของตามคนในหมู่บ้านเดียวกัน โดยในรถเข็นมีทั้งถั่วต้ม มันต้ม ข้าวโพดต้ม และผลไม้พื้นถิ่นเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล ซึ่งของที่นำมาขายไม่สามารถเหลือเพื่อนำไปขายต่อในวันถัดไปได้เลยขายหมดได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีเหล่าคนงานก่อสร้างซื้อกิน

รถเข็นคันที่ 2

ไม้กวาดของ ‘พี่รัตน์’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 18 ปี

พี่รัตน์อดีตหัวหน้าแผนก ณ ร้านรองเท้า Taywin มากประสบการณ์ ผันตัวมาตระเวนเข็นรถขายไม้กวาดและอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ขายดีช่วง 2 เดือนแรกตอน Covid-19 ระบาด พร้อมกลยุทธ์เน้นการจดจำลูกค้าและดึงดูดลูกค้าด้วยการเทสต์โชว์คุณภาพสินค้าให้ดูได้ เพราะเหตุผลนี้เลยมีลูกค้าประจำที่ใช้แล้วติดใจจนต้องกลับมาซื้อร้านพี่รัตน์อีกครั้ง โดยมีบริการส่งของให้ถึงที่ด้วย

รถเข็นคันที่ 3

มะพร้าวน้ำหอมของ ‘ลุงศุภนัย’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

ลุงศุภนัยชาวบุรีรัมย์ ชายหนุ่มปี พ.ศ.2507 ที่ทำนาแล้วนาแล้ง มาแกะขนุนขายเป็นกิโลจนลูกค้าแผ่วเลยหันไปเข็นรถเข็นขายมะพร้าวน้ำหอมที่รับมาจากตลาดมหานาคแทน ลูกค้าของร้านส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน เพราะซื้อไปไหว้เจ้า และเพราะส่วนใหญ่ขายเป็นลูก ฝีมือการเฉาะมะพร้าวก็ชำนาญช่ำชองพอสมควร

รถเข็นคันที่ 4

ผลไม้ของ ‘ลุงนะ’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 20 ปี

ลุงนะชาวโคราช อายุ 50 ปี ผู้มีความฝันถ้ารวยแล้วจะกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้าน แต่ตอนนี้ต้องรับผลไม้จากตลาดมหานาคมาลงรถเข็นขายผลไม้ตามฤดูกาลไปก่อน โดยเดินเข็นรถตามหาลูกค้าตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น แม้รถเข็นผลไม้จะมีเกลื่อนสำเพ็ง แต่สิ่งที่แตกต่างจากรถเข็นผลไม้ทั่วไปคือ ‘ร้านนี้มีลุงนะ’ หากไปร้านอื่นอาจได้ผลไม้แถมพริกเกลือ แต่ร้านนี้จะแถมมิตรภาพกลับไปด้วย เพราะลุงคุยเก่งนะ

รถเข็นคันที่ 5

น้ำตาลสดของ ‘ป้าทองเลียน’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

ป้าทองเลียนอายุ 61 ปี จากแม่ค้าอาหารตามสั่งตอนสาว ๆ เปลี่ยนมารับบทเป็นแม่ค้าน้ำตาลสดรถเข็นในย่านสำเพ็ง เดินเท้าทุกวันจากสี่พระยาไปยังตลาดน้อยและสำเพ็งเพื่อหาลูกค้า เพราะขายได้ไม่ดีนัก อีกทั้งอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้สายตาเริ่มแย่ลงแต่ก็ต้องทำมาค้าขายเพื่อให้มีเงินใช้ เนื่องจากเงินรายเดือนที่ลูกส่งมาให้นั้นไม่เพียงพอ แม้จะอยากหาน้ำชนิดอื่นมาเพิ่ม แต่ไม่มีทุนพอจะซื้อน้ำให้หลากหลายขึ้น

รถเข็นคันที่ 6

ผัดหมี่ผักกระเฉดของ ‘ป้านุช’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 17 ปี

ป้านุชชาวนครพนมอายุ 48 ปี เจ้าของผัดหมี่ผักกระเฉดของเด็ดย่านสำเพ็ง อดีตแม่ค้าร้านอาหารตามสั่ง ณ สโมสรเนติบัณฑิตยสภา ที่ตอนนี้ขายผัดหมี่หมดแบบไม่มีเหลือทุกวัน เพราะไม่ว่ารถเข็นนี้จะผ่านร้านไหนเป็นต้องหยุด เพราะคนกวักมือเรียกให้ตักผัดหมี่ใส่ถ้วยกันเป็นระนาว พอรู้ว่ามีลูกค้าประจำที่ชอบถามหาก็เลยไม่อยากเปลี่ยนไปทำอาชีพไหนแล้ว แม้จะอยากทำร้านเป็นของตัวเอง แต่ที่แพงเลยพอใจที่จะเข็นรถขายแบบนี้

รถเข็นคันที่ 7

ไข่ลวกของ ‘พี่เทียน’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 8 ปี

พี่เทียนชาวสุรินทร์ อายุ 53 ปี กับร้านไข่ลวกเตาถ่านและน้ำจิ้มแจ่วทำเองที่แตกต่างจากร้านอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่หากินได้ยากแล้วในยุคนี้ จากหาบเร่ไข่ปิ้ง ไข่ลวก และปลาหมึกแห้งย่าง ผันตัวมาเป็นฉบับรถเข็นแทนเพื่อความสะดวกในการย้ายที่ไปหาลูกค้า โดยจะมีเวลาเฉพาะไปตามสถานที่ในเส้นทางคลองถม สำเพ็งและเยาวราช เพราะอยู่กับที่แล้วขายไม่ดีเท่าเดินตามจุด เพียงแค่ผ่านหน้าร้านขายของสักซอยมักจะต้องมีสัก 2 ใน 3 ร้านกวักมือสั่งไข่ลวกกันเป็นแถบ
.

รถเข็นคันที่ 8

สตรอว์เบอร์รี่และเชอร์รี่ของ ‘ป้านก’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

ป้านกชาวสะพานหัน ขายสตรอว์เบอร์รี่และเชอร์รี่มาตั้งแต่สมัยสาว ๆ เป็นผลไม้จากปากคลองตลาด ซึ่งรับของมาพอขายเพื่อให้ขายหมดในแต่ละวัน และรับผลไม้สดใหม่ต่อวันมาขายให้ลูกค้าเสมอ ในช่วงนี้จะเป็นสตรอว์เบอร์รี่ของนอก แต่เดือนธันวาคมจะเป็นสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ที่หวานที่สุด เคยอยากขายทุเรียนเพราะขายดีแต่แกะยาก และไม่มีความรู้เรื่องทุเรียนมากพอ ราคาผลไม้ร้านนี้ไม่ได้ขายเอากำไรมาก เพราะเข้าใจหัวอกคนซื้อที่เจอพิษเศรษฐกิจเหมือนกัน

รถเข็นคันที่ 9

โดนัทกับกะลอจี๊ของ ‘ป้าจุ๋ม’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

ป้าจุ๋มผู้ที่สืบทอดขนมประเทศจีนสูตรโบราณมาจากรสมือของคุณแม่ มีคติของร้านว่าของขายที่สำเพ็งต้องอร่อยเท่านั้น จนมีลูกค้าประจำหลายคนติดใจ แต่พอเจอพิษจาก Covid-19 ทำให้ต้องปิดร้านไป 2 เดือนเต็ม จนสถานการณ์ดีขึ้นเลยกลับมาเปิดขายอีกครั้ง หากขายไม่หมดจะไม่กลับบ้าน และจะตระเวนรถเข็นขายไปเรื่อย ๆ ในอนาคตถ้ามีโอกาสและทุนมากพอก็อยากต่อเติมหน้าร้านเพิ่ม รวมถึงหาของมาขายด้วย

รถเข็นคันที่ 10

ส้มตำของ ‘พี่อี๊ด’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 2 ปี

พี่อี๊ดชาวร้อยเอ็ด อายุ 23 ปี แม่ค้าส้มตำที่สืบทอดสูตรมาจากคุณแม่ จากเดิมเคยช่วยขายส้มตำพร้อมข้าวปุ้น (ขนมจีนเส้นสด) มาก่อน แต่เพราะไม่มีวุฒิเลยหาสมัครงานอาชีพอื่นยาก ตอนนี้จึงกลายมาเป็นแม่ค้าเต็มตัวแทนคุณแม่ มีเอกลักษณ์ที่จอดรถเข็นจุดประจำเพื่อนั่งตำส้มตำตามสั่งลูกค้า หากขายได้จนมีทุนพอสมควรแล้ว สิ่งแรกที่อยากทำคือกลับไปเปิดร้านส้มตำของตัวเองที่ร้อยเอ็ด

รถเข็นคันที่ 11

ห่อหมกทะเลย่างของ ‘พี่จันทร์’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

พี่จันทร์ชาวร้อยเอ็ดอายุ 54 ปี ผู้ที่รับบทเป็นทั้งแม่ค้าห่อหมกทะเลย่างและแม่เลี้ยงเดี่ยว หาเงินส่งลูกเรียนด้วยการเข็นรถขายห่อหมกทะเลย่างที่รับมาจากอ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังออกจากงานรับจ้างเพราะรายได้ไม่พอใช้จ่าย จอดเป็นจุดให้ลูกค้าประจำหาเจอ และมีจุดขายอยู่ที่ความเป็นอาหารพื้นบ้านสูตรต้นตำรับราคาถูก เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในย่านสำเพ็งที่นั่งเฝ้าร้านกวักมือเรียกเพื่อตักใส่จานได้

รถเข็นคันที่ 12

เขียงของ ‘พี่ชิด’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 20 กว่าปี

พี่ชิดอายุ 44 ปี หันมาขายเขียงไม้หลากหลายขนาด หลังจากเคยเป็นเด็กเสิร์ฟร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำและเด็กเย็บกระเป๋าจากบางมดมาก่อน แต่มีคนแนะนำให้มาขายเขียงและเปลี่ยนเป็นของตามกระแสไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นอาชีพที่มีอิสระให้ตัวเองมากกว่า โดยจะเริ่มขายหรือเลิกขายเมื่อไหร่ก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะขายดีในหมู่แม่ค้าปากคลองตลาดและตามร้านค้าในสำเพ็ง เยาวราช เพียงแต่ช่วงนี้ขายได้ไม่แน่นอนนัก เพราะเขียงเป็นอุปกรณ์เครื่องครัวที่คนใช้กันเป็นเวลานานกว่าจะซื้อใหม่ เลยทำได้แค่เข็นรถตระเวนหาลูกค้า หรือรอลูกค้าประจำโทรกลับมาต่อไป

รถเข็นคันที่ 13

แตงทิเบตของ ‘พี่แดง’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 2 ปี

พี่แดงอายุ 31 ปี พนักงานร้านกิ๊ฟช็อปที่โดนเลิกจ้าง ทำให้มาลงเอยกับรถเข็นขายผลไม้ตามฤดูกาลที่รับมาจากปากคลองมหานาค แม้ผลไม้ที่ขายจะมีเหมือนกัน แต่ร้านพี่แดงจะพิเศษที่ใส่ใจความต้องการของลูกค้า มีทั้งผลไม้ที่ปอกเป็นชิ้นใส่ถุงวางบนน้ำแข็งไว้เรียกลูกค้า แต่หากลูกค้ามาซื้อ พี่แดงจะปอกใหม่สด ๆ เสมอ

รถเข็นคันที่ 14

ปลาสลิดของ ‘ป้าติ๋ม’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

ป้าติ๋มชาวสุพรรณจากอดีตแม่ค้าหาบปลา เปลี่ยนมาเข็นรถขายเพื่อความคล่องตัวและอายุที่เพิ่มขึ้นเลยแบกปลาไม่ไหว ป้าติ๋มวิ่งรถขึ้นลงทุกวันตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปรับของจากสุพรรณและมาขายของต่อที่กรุงเทพ 6 โมงเช้า หากขายหมดไวก็กลับไว แต่ขายหมดช้าก็กลับช้า แต่มักจะขายหมดในช่วงบ่าย ส่วนช่วงที่ขายดีจะเป็นเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่ปลาสลิดมันและอร่อยที่สุดนั่นเอง

รถเข็นคันที่ 15

ปลาหมึกทรงเครื่องของ ‘ป้าเดือนใจ’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 20 ปี

ป้าเดือนใจเจ้าของปลาหมึกทรงเครื่องและน้ำจิ้มที่คิดค้นสูตรนี้มา 20 ปี ทำเองวันต่อวัน โดยรับปลาหมึกมาจากมหาชัย และมีลูกค้าประจำติดเยอะ รวมถึงลูกค้าที่เป็นเจ้าของร้านในสำเพ็งด้วย แต่รายได้ก็หดหายเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ของ Covid-19 ทำให้มาขายไม่ได้ จนตอนนี้กลับมาขายก็คิดอยากจะมีหน้าร้าน แต่ไม่มีเงินพอจะเช่าที่

รถเข็นคันที่ 16

ยำสุดแซ่บของ ‘พี่บัว’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 10 ปี

พี่บัวอายุ 28 ปี แม่ค้ายำแซ่บพร้อมน้ำจิ้มสูตรลับที่คิดเอง จากเดิมที่เคยขายกล้วยตากมาก่อน ด้วย แต่ลูกค้าแนะว่าทำยำขายอร่อยกว่าเลยหันมาขายยำเต็มตัว ทุกอย่างทำเองซื้อเอง อย่างการตื่นตี 5 ไปเลือกของสดที่คุณภาพดีมาทำยำ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ร้านของพี่บัวต่างจากร้านอื่น คือการใส่ข้าวคั่วในยำด้วยเพื่อเพิ่มความนัวให้รสชาติ และเพราะความแซ่บไม่เหมือนใครนี้ลูกค้าจึงมักจะโทรตามเสมอ รถเข็นยำร้านนี้ก็พร้อมจะเดินไปหาเช่นกัน

รถเข็นคันที่ 17

กาแฟโบราณของ ‘พี่ต้อม’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 11 ปี

พี่ต้อมชาวร้อยเอ็ด อายุ 39 ปี ผู้ที่ประสบการณ์การทำงานโชกโชน ผ่านมาเกือบหมดแล้วทั้งเด็กเสิร์ฟยันพนักงานบริษัท แต่เลือกที่จะลาออกมาเป็นนายตัวเองในการทำกาแฟโบราณขาย จากเข็นรถตระเวนตามหาลูกค้า ตอนนี้เปลี่ยนมาจอดรถเข็นอยู่กับที่ให้ลูกค้ามาหาแล้ว โดยเริ่มตั้งร้านตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 11 โมง พร้อมกลยุทธ์ ‘ชงตามสั่ง’ เป็นสูตรของร้านที่เกิดจากความต้องการของลูกค้าเพื่อให้ได้ดื่มในสิ่งที่ชอบ

รถเข็นคันที่ 18

บัวลอยน้ำขิงของ ‘เจ๊มี’
ผจญภัยกับรถเข็นมา 20 ปี

เจ๊บุญมี อายุ 70 ปี ผู้สร้างสรรค์ความอร่อยของบัวลอยน้ำขิงและเต้าฮวยที่ทำเอง ต้มเองจนลูกค้าพากันติดใจ เริ่มตั้งรถเข็นขายบัวลอยน้ำขิงเพราะทำง่าย ขายไม่ยาก เป็นร้านเล็ก ๆ ที่เปิดข้างห้างทองบ้วนฮั่วล้ง และมีจุดเด่นที่โต๊ะเก้าอี้นั่งกินได้สำหรับลูกค้าอยู่ในซอกซอยเล็ก ๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งความดั้งเดิมนี้ยังคงเป็นเอกลักษณ์ เพราะคิดจะต่อเติมเป็นหน้าร้านของตัวเองเพิ่มแต่ค่าที่แพง เลยยังคงทำข้อตกลงกับเฮียร้านทองใช้พื้นที่นี้ทำบัวลอยน้ำขิงต่อไป

รถเข็นคันที่ 19

โรตีสายไหมของ ‘พี่นิดหน่อย’
ผจญภัยกับจักรยานมา 3 ปี

พี่นิดหน่อยชาวนครสวรรค์อายุ 53 ปี แม่ค้าหาบโรตีสายไหมอาจจะดูธรรมดาไปหน่อย และเพราะชอบปั่นจักรยานด้วย เลยตระเวนปั่นจักรยานขายโรตีสายไหมแทน เป็นเอกลักษณ์ที่ถนัดและมีความชอบอยู่ในนั้น แถมรายได้จากโรตีสายไหมสูตรทำเองจากบ้านกับน้องสาวที่สนิทกัน ยังส่งให้ลูกของพี่นิดหน่อยเรียนจบ และสามารถปลูกบ้านได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้อีกด้วย และหากอายุเพิ่มขึ้นจนปั่นจักรยานไม่ไหวก็คิดไว้แล้วว่าจะมีร้าน ‘นิดหน่อยโรตีสายไหม’ เปิดแน่นอน

รถเข็นคันสุดท้าย

โชคชะตา
ผจญภัยกับรถเข็นชีวิตในทุกวัน

พ่อค้าแม่ค้าเข็นรถขายทุกคนในสำเพ็งแห่งนี้ต่างก็มีโชคชะตาและวิถีชีวิตต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความมุ่งมั่นที่จะมีอิสระกับรถเข็นที่ตัดสินใจลงทุนด้วยเงินของตัวเอง แม้จะเจอกับพิษของเศรษฐกิจและปัญหาการค้าขายในการหนีเทศกิจเป็นบางวัน แต่พวกเขาก็ยังคงเดิน 2 เท้าไปกับ 3 ล้อรถเข็นนี้ด้วยใจที่หวังว่าสักวันหนึ่งจะมีร้านเป็นของตัวเอง

เพราะชีวิตเราต่างก็อยู่ด้วยความหวัง มนุษย์จึงต้องมุ่งมั่นเพื่อให้ความหวังนั้นประสบความสำเร็จ แม้ไม่รู้ว่าปลายทางจะไปสิ้นสุดตรงไหน หรือเรื่องราวของเราจะจบลงอย่างไร อย่างน้อยหากได้เริ่มเดินสักก้าวหนึ่งเพื่อความหวังนั้นก็ถือว่าคุ้มแล้ว

Contributors

contributor's photo

Trawell Thailand

Writer

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read